ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







ภาษากลับคำ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ฉันได้รับเชิญไปงานมงคลสมรสของลูกสาวชาวชมรมกล้วยไม้ท่านหนึ่ง   ซึ่งเป็นงานที่ฉันพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด   เพราะจะทำให้พลาดโอกาสที่จะได้พบปะเพื่อนร่วมชมรมที่จะแห่กันมาแสดงความยินดีกับลูก  ๆ หลาน ๆ อย่างอุ่นหนาฝาคั่งตามธรรมเนียมไทย ที่ว่า งานแต่งงานของลูก คืองานเลี้ยงรุ่นของพ่อและแม่  และงานนี้ก็เช่นกันมีคนหัวดีให้ความคิดว่าทางที่ดีพวกเราน่าจะนัดกันมาก่อนเวลางาน  เพื่อที่จะได้เม้าส์กันอย่างเต็มที่ก่อนเวลางานเพราะจะได้ไม่รู้สึกคันปากอยากพูดในขณะที่เขากำลังทำพิธีกัน   ซึ่งจะเป็นการเสียมารยาทสังคมที่ดี สมาชิกทุกคนเห็นควรด้วยกับความคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง ในวันนั้นเพื่อน  ๆ ต่างพากันมาตามที่ได้นัดหมาย ในขณะที่กำลังคุยกันเรื่องต่าง ๆ อย่างเมามัน เพื่อนของฉันคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบมาเข้ามาด้วยท่าทางคนที่มีความกังวลอยู่ในใจพอมาถึงก็ขอแทรกแซงเล่าเรื่องร้อนที่เธอร้อนใจให้เพื่อน      ช่วยกันฟังและแก้ไขให้เธอด้วยเพราะเธอนั้นมีอาการ กินไม่ได้นอน นอนไม่ได้กินมาหลายวันแล้ว ครั้นจะเล่าให้ใครในบ้านฟังก็เกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต จึงหวังอย่างยิ่งว่านักจิตวิทยาภาษาอย่างฉันน่าจะเป็นที่พึ่งได้

เรื่องเล่่าของเธอมีอยู่ว่า  เมื่อ 2 - 3  วันมานี้หลานสาววัย 2 ขวบกว่า ๆ ของเธอมาฟ้องว่า   เพื่อนชายวัยเดียวกันกับเธอที่โรงเรียนฝากเลี้ยง บอกว่า ถ้าเธอไม่ยอมให้เขาช่วยเลี้ยงตัวมดคอมพิวเตอร์ของเธอเขาจะกด มดลูก ของเธอไปให้ตายตอนเธอเผลอ ความที่กลัวว่าหลานจะเป็นอันตราย  เธอก็เลยบอกให้หลานยอมให้เขาช่วยเลี้ยงไปเถอะเพื่อถนอมมดลูกของหนูเอาไว้ก่อน เธอเสริมว่าเด็กอะไรแก่แดดจริง แต้ก็ไม่วายสงสัยว่า เด็กอายุเท่านี้ จะรู้จักคำว่า มดลูก แล้วหรือ ว่ามันคือ อะไร อยู่ที่ไหน และใช้ทำอะไร

ฉันเองก็พลอยแปลกใจไปด้วยเช่นกัน  ครั้งแรกก็คิดไปว่าคงจะเป็นคำที่เด็กจำมาจากการพูดคุยกันของผู้ใหญ่ แต่เมื่อนึกดูอีกทีก็ไม่น่าเพราะใครจะพูดเรื่องมดลูกกันบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันจนเด็กซึ่งเริ่มหัดพูดเก็บเอาไปใช้ขู่เพื่อนได้ ฉันว่ามันน่าจะเกิดจากการเรียงคำที่ผิดพลาดมากกว่า แต่ฉันก็แนะว่าให้เพื่อนกลับไปพิสูจน์ความจริงโดยให้เธอพยายามเลียบเคียงถามหลานสาวว่าเข้าใจคำนี้มากแค่ไหน  ซึ่งผลก็ปรากฎว่าหลานสาวตัวน้อย ๆ ของเธอและเพื่อนชายตัวกะเป๊ยกนั้น ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวกับคำล่อแหลมที่น่าวิตกกังวลนั้นเลยและไม่รู้จักอวัยวะชิ้นนี้ด้วย แต่ใช้คำนี้เพราะเกิดความผิดพลาดในการผสมคำ    เลยทำให้ ลูกมด กลายเป็น มดลูก อย่างน่าหวาดเสียว  เฮ้อโล่งใจไปที แหม เข้าใจเลือกคำมาใช้จริงนะ เล่นเอาคุณยายลมแทบใส่ทีเดียวกับงานนี้  

ความจริงแล้วการพัฒนาการรู้ภาษาของเด็กนี้  เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน หลายคนก็คงจะเคยได้ยินเด็กเล็ก ๆ พูดถึงสิ่งที่คุ้น ๆ อย่างแปลก ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ  นักจิตวิทยาด้านภาษาท่านหนึ่ง ชื่อ Chomsky ก็ได้กล่าวถึงการรู้ภาษาว่าเมื่อเด็กได้ยินคำพูด   กลไกทางสมองด้านภาษา (LAD) ก็จะทำปฎิกิริยากับคำพูดที่เด็กได้ยินเพื่อจัดให้เข้าระเบียบโครงสร้างของภาษาซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนักสำหรับเด็กตัวน้อย  ๆ และเมื่อเกิดการสับสนในระหว่างการจัดการจัดระเบียบของภาษาว่าคำไหนเป็นคำนาม และคำไหนเป็นคำขยาย หรือคำกริยา ดังนั้นในบางครั้ง ลูกมด  ก็กลายเป็น มดลูก ลิ้นชัก  ก็เลยเป็นชักลิ้น  หรือน้ำตก ก็กลายเป็น ตกน้ำ ก็ต้องยอมรับกันว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน  แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เถอะ บางครั้งก็อาจจะเกิดการพลั้งเผลอไปกลับคำภาษาจนทำให้เกิดเรื่องขึ้นมาก็ได้ ถ้าไม่ระมัดระวังในการเรียงคำให้ดี

"เขาว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นม้าตีนปลาย  ทางด้านเศรษฐกิจนะเธอ"  เพื่อนนักเล่นหุ้นคนหนึ่งเอ่ยขึ้นเพื่อปลอบใจตนเอง

"ก็ดี  แต่อย่าเป็นม้าปลายตีนก็แล้วกัน  เพราะฟังแล้วฉันรู้สึกจุกแทนเธอ"  เพื่อนคู่กัดเริ่มแซวเมื่อมีช่องทาง  ให้กลุ่มพวกขุนพลอยพยักได้เฮกันและก่อนที่ภาษากลับคำจะทำให้เรื่องไม่เป็นเรื่องเป็นเรื่องขึ้นมา  ก็พอดีได้เวลาเริ่มพิธีของงานพอดี เฮ้อ เกือบแล้วไหมล่ะ ได้ระฆังวิวาห์ช่วยไว้แท้ ๆ   

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com