ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







ตอนการเรียนรู้ที่ 3

หลักการพิจารณาพฤติกรรมทางคุณธรรมและจริยธรรม

 

ในการบริหารจัดการการศึกษาที่ดีและเป็นธรรมนั้น จะวางแนวทางปฏิบัติให้ผู้อยู่ในภายใต้การนำของผู้นำให้ตระหนักรู้และสามารถนำไปปฏิบัติให้ตนเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้ รวมทั้งกำกับตนเองให้เป็นผู้นำทางด้านคุณธรรมจริยธรรมด้วย ซึ่งประภาศรี สีหอำไพ (2543) กล่าวว่า คุณค่าทางจริยธรรมชี้ให้เห็นความเจริญงอกงามในการดำรงชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผนตามวัฒนธรรมของบุคคลที่มีลักษณะทางจิตใจที่ดีงาม 

 3. 1  ธรรมชาติของจิตสำนึกของมนุษย์กับการกระทำที่ถูกต้อง

มนุษย์มี จิตสำนึก คือ สติที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ มนุษย์จึงมีความแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น  ๆ คือ ไม่ได้การกระทำสิ่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่ด้วยสัญชาตญาณ แต่จะมีสติที่เป็นจิตสำนึกในการกระทำและตัดสินการกระทำนั้นด้วยความรู้สึกผิด ชอบ ชั่วดี และมีความละอายที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้สภาพทางด้านจิตใจ มีความรู้สึกที่กระสับกระส่าย ใจกวัดแกว่งซึ่งสามารถรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนเป็นสภาพของอารมณ์ บางครั้งการเคลื่อนไหวเกิดจากอารมณ์ที่เป็นสุขแต่ในบางครั้งการเคลื่อนไหวก็ก่อให้เกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ทุก ๆ ครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางอารมณ์ แสดงว่า จิตรู้ตัวว่ามีสิ่งกระตุ้นเร้าเกิดขึ้น แต่การควบคุมจิตให้สามารถรู้ตัวอยู่ได้ตลอดเวลาที่ถูกกระตุ้น และสามารถกำกับพฤติกรรมการตอบสนองต่อการถูกกระตุ้นนั้นได้ดีเพียงใด  

ในส่วนที่เป็นจิตสำนึกที่เรียกว่า มโนธรรม พระเทวินทร์ เทวินโท (2544) กล่าวว่า เป็นความสำนึกของจิตทางศีลธรรมและความเมตตาปราณีที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ที่เป็นปฏิกิริยาภายในร่างกายและจิตใจที่เป็นความสำนึกที่บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรดี ชั่ว ถูก หรือผิด และอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ จิตสำนึกในความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเชื่อในเรื่องของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นได้อย่างไร มโนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดต่อการกระทำที่ควรทำหรือไม่ควรทำ มโนธรรมเป็นตัวกำกับให้บุคคลรู้และสำนึกว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ดี ชั่ว ถูกผิด การมีมโนธรรมเกิดขึ้น คือการมีความคิดเกิดขึ้นกับสิ่งต่าง  ๆ มโนธรรม มีความแตกต่างกับเจตคติของมนุษย์ ตรงที่ว่า เจตคตินั้นอาจไม่ได้มี ธรรม เป็นตัวกำหนดเสมอไป และมโนธรรมจะเกิดได้ต้องมีจิตสำนึกควบคู่กันไปด้วย การตัดสินพฤติกรรมด้านจริยธรรมของจิตจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถพิจารณาได้ด้วยความรู้สึกที่สัมผัสได้จากจิตของตนเองที่บ่งบอกถึงความรู้สึกอันเนื่องมาจากพฤติกรรมนั้น 

การที่มนุษย์ เรียกตนเองว่าเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐซึ่งหมายถึง ผู้มีความเจริญในด้านจิตใจ มีมโนสำนึกอยู่ภายในตนซึ่ง มโนที่เป็นความคิดที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เรียกว่า มโนธรรม หรืออาจเรียกว่า จริยธรรม ส่วนคุณธรรมนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อธรรมนั้นเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นร่วมกัน ทั้งคุณธรรมจริยธรรมเมื่อนำมาเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารย่อมก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นในองค์การ จำเริญรัตน์ เจือจันทร์ (2537) อธิบายว่า มนุษย์มีความเชื่อว่าองค์การใดที่มีผู้บริหารที่ขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมและดำเนินกิจการและปกครองคนอย่างไร้คุณธรรมย่อมนำมาซึ่งสงครามของการแย่งชิงและทำลายล้างกัน มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้มุ่งจิตปรารถนาที่จะให้การศึกษาที่เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและแก่ชุมชนของโลกเป็นการศึกษาเพื่อการนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข  อันเป็นปรัชญาความคิดในด้านการนำการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการนำความสงบ ความสุข มาสู่โลกอย่างแท้จริง การที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ต้องมาจากจิตบริสุทธิของผู้ที่ทำหน้าที่

3. 2  มุมมองเกี่ยวกับตัวกำหนดพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นคุณธรรมและจริยธรรมในแต่ละสังคมอาจจะแตกต่างกัน เพราะการเก็บสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ศาสนา และการศึกษาของคนในสังคมนั้น เช่นการคุมกำเนิดหรือการคืนของที่เก็บได้ให้แก่เจ้าของนั้น ในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ในบางสังคมและบางวัฒนธรรม อาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาหรือเป็นความโง่ที่จะกระทำเช่นนั้น ดังนั้นการนำเอาคุณธรรมในสังคมหนึ่งไปตัดสินคุณธรรมในอีกสังคมหนึ่งนั้นย่อมเป็นการไม่เหมาะสม จึงมีการแสวงหาหลักเกณฑ์อื่นในการตัดสินคุณภาพทางจิตใจของคน

วูด (Wood, 2001) กล่าวว่า ตัวกำหนดพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคลอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังที่ได้นำความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยใช้มุมมองจากผลงานของนักปรัชญา เช่น จอห์ สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) จอห์น ล็อก (John Locke) และ โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1) มุมมองในด้านการกระทำที่ถูกนำไปพิจารณาว่า ถูกหรือผิดโดยยึดหลักการนำความสุขมากที่สุดมาสู่บุคคลส่วนใหญ่

2) มุมในด้านเอกัตตบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอย่างยั่งยืน

3) มุมมองในด้านความถูกต้องทางคุณธรรม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์โดยส่วนรวม

4) มุมมองด้านความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องจริยธรรมของการบริหารภาครัฐ วันที่ 9 กค. 48 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จำแนกประเภทจริยธรรมในด้านการปกครอง ทำให้ได้มุมมองของจริยธรรมเป็น 2 ด้าน ซึ่งเป็นจริยธรรมที่นำมาสู่การบริหารจัดการที่ดี ได้แก่

1. จริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  เป็นการบริหารที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ของการปกครองประเทศ ซึ่งมีการร่างออกมาเป็นกฎหมายเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบนฐานความคิดของความถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์  

2. จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม  เป็นมุมมองในด้านการมองจริยธรรมในด้านการนำรัฐธรรมนูญมาใช้เพื่อให้การบริหารจัดการบ้านเมืองบนฐานความคิดที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

          ดังนั้นตามมุมมองที่กล่าวมานี้ เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม  แม้ว่าเกณฑ์การตัดสินความถูกผิดทางจริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์ใช้ในการตัดสินการกระทำว่า ทำอะไรเรียกว่าทำดี และทำอะไรเรียกว่าทำชั่ว และทำอะไรเรียกว่าทำถูก และทำอะไรเรียกว่าทำผิด แต่การตัดสินการกระทำเช่นนั้นอาจจะไม่ตายตัวเสมอไปเสียทีเดียว (พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544)

 

 

 

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com