ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







ภูมิใจที่ได้เป็นคนแบ่ง

วันนี้เป็นวันหยุดพี่สาวของสามีขอเอาหลานสองคนมาฝากไว้ให้เลี้ยงเนื่องจากต้องไปเยี่ยมญาติฝ่ายสามีที่โรงพยาบาล ก็นับว่าเป็นงานใหญ่เหมือนกันเพราะเมื่อรวมกับจำนวนลูก ๆ ของเราเข้าไปด้วยอีกสามคน ก็เท่ากับมีเด็กอายุใกล้เคียงกันเคียงกันทั้งหมด ห้า คน เริ่มจาก อายุ 7- 3 ขวบ ต้องบอกว่าหลานทั้งสองคนนี้น้ำหนักรวมกันแล้ว กว่าร้อยกิโล กินเก่ง เสียงดัง เล่นแรง ส่วนลูก ๆ ของเราเองก็ตัวค่อนข้างผอมใจอ่อน ยอมความง่าย จะมีก็เจ้าตัวเล็กที่ค่อนข้างเอาเปรียบพี่ ๆ เขาหน่อย การเอาเด็กผู้ชายทั้งหมดมาอยู่รวมกันก็ย่อมมีความโกลาหลบ้างเป็นธรรมดา โดยเฉพาะการเล่นก็ต้องมีพลาดพลั้งบ้างเป็นธรรมดา การดูแลต้องออมชอมและคิดลึกซึ้งหน่อย เดี๋ยวจะกลายเป็นนี่ลูกนี่หลานก็จะเสียความรู้สึกที่ดีต่อกันไปอีก  ปัญหาที่ยุ่งยากมากที่สุดน่าจะเป็นการ แย่งของเล่นกัน มีการฟ้องร้อง และการเรียกร้องสิทธิ์ ใครเล่นก่อน ก็จะถือสิทธิ์ ก็ต้องมีการขอร้องให้แบ่งปันกัน ต้องถือว่าของเล่นนั้นควรต้องเล่นด้วยกัน แม้จะเป็นของเราเขาเล่นก่อนก็ต้องให้เขาเล่น เป็นมารยาทของเจ้าของบ้าน สูตรสำเร็จมักจะให้พี่ยอมน้องซึ่งก็มักจะทำให้เกิดความคับข้องใจของคนที่เป็นพี่ ดังนั้นจึงควรต้องบอกให้น้องไปขอพี่เขาเล่นบ้างดี ๆ พ่อแม่อาจจะต้องเข้าไปพูดให้บ้าง และควรต้องพยายามหาของเล่นอื่นให้น้องเล่นไปก่อน การที่จะบอกพี่ว่าให้เสียสละให้น้องเพราะน้องยังไม่ค่อยรู้เรื่องนั้นมักจะได้ยินเสียงบ่นจากพี่ว่า จะเป็นอย่างงี้อีกนานไหมครับ ถ้าโกรธมากก็จะพูดว่า แม่ก้อ ทั้งปี แต่เรื่องไม่เป็นเรื่องนี้มักจะติดค้างอยู่ในใจของเด็กอยู่เสมอมักจะไม่จบลงโดยง่าย การแบ่งปัน

สิ่งหนึ่งที่สำคัญเมื่อรวมญาติคือ การจัดระบบการอยู่ด้วยกัน ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีกฎเกณฑ์บ้างเพื่อวางกรอบความคิดเบื้องต้น การแชร์สิ่งของที่เป็นของเล่นอาจจะไม่เหมือนกับการแบ่งปันของกิน โดยเฉพาะเด็ก ๆ มักจะหวงขนมของตัวแต่จะเอาของคนอื่น สิ่งทีเด็กชอบทำก็คือ จะเอามากินเยาะเย้ย หลอกล่อให้เพื่อนอยากกิน ทำให้เกิดกรณีพิพาทขึ้นมาอีก ดังนั้นกฎเหล็กคือ เมื่อเอาขนมออกมากินต้องแบ่งให้เพื่อนด้วย ไม่เช่นนั้นต้องเก็บไปกินคนเดียวไม่ให้คนอื่นเห็น การแบ่งขนมให้เพื่อนก็เช่นกัน ก็ต้องมีเกณฑ์กำหนดว่าขนมนั้นเป็นขนมของใคร เขาอยากจะแบ่งปันเท่าไรก็ต้องตามใจเจ้าของขนมเขา จะมาเรียกร้องเอาเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของเรา การบังคับจะเอาเท่ากันเจ้าของก็จะทำให้เจ้าของเกิดความคับข้องใจ พาลพาโลเดือดดาลก็จะเป็นเรื่อง อันนี้ต้องมีความคิดแบบจิตวิทยาหน่อยคือต้องให้เจ้าของแสดงอำนาจของความเป็นเจ้าของเพื่อจะให้เด็กให้สิ่งที่ตนเป็นเจ้าของแก่คนอื่นด้วยตัวเองด้วย ในกรณีที่พูดอย่างไรก็ยังไม่ยอมแบ่งปันจะทำอย่างไรดี โดยเฉพาะขนมหรือของกินซึ่งดูแล้วน่าเกลียดมาก ข้อเสนอแนะกิจกรรมให้ทดลองทำคือ แอบให้เงินพี่แล้วพาไปเลือกซื้อขนมมาทำการแบ่งให้น้องทุกคนแต่ไม่ให้คนที่ไม่ยอมให้คนอื่นกินของตัว ส่วนใหญ่ขนมที่ซื้อมาใหม่มักเป็นที่น่าสนใจอยู่แล้ว ถ้าเด็กเจ้าปัญหามายืนมองกะลิ้มกะเลี่ย จะขอด้วยก็ต้องให้พี่พูดว่า ที่พี่ไม่ให้หนูเพราะเวลาหนูมีขนมหนูยังไม่แบ่งให้คนอื่นเลย ถ้าหนูอยากได้หนูต้องเอาขนมของหนูมาแบ่งให้พวกเราก่อน  ถึงตอนนี้ก็ต้องวัดใจกันละว่าจะสำเร็จหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะสำเร็จทุกราย ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ก็ควรสอนให้ลูก ๆ รู้จักคิดบ้าง ลูกบางบ้านอะไรที่ตัวชอบโกยเอามาไว้ในจานของตัวจนน่าเกลียดแล้วก็กินไม่หมด หรือไม่ก็เดินไปหยิบกินจากโต๊ะจนเกือบหมด พ่อแม่บางคนไม่ว่าอะไรเพราะคิดว่าดีแล้วที่ลูกกินได้แต่นี่เป็นการเพาะนิสัยที่ไม่คิดถึงใครนอกจากตนเอง

กิจกรรมหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อสร้างนิสัยแบ่งปันคือ การช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรกับอาหารบนโต๊ะจึงจะทำให้ได้กินทุกคน เช่น ต้องให้ช่วยกันคิดว่าลูกชิ้นที่ซื้อมา หนึ่งร้อยลูกนี้ ถ้ากินกันเจ็ดคนจะได้คนละเท่าไร อาจมีการหารือกันบ้าง มีเสียงบ่นจากหลานว่า ทำไมต้องแบ่งด้วย แบ่งแล้วเหลือคนละนิดเดียวเอง ก็เลยต้องอธิบายให้ข้อคิดกันหน่อย  ในที่สุดก็สรุปว่าให้แบ่งเหมือนแบ่งเนื้อเค็มก็แล้วกัน คือ เอาชามมา เจ็ดชาม จากนั้นก็ค่อย ๆ ช่วยกันเชียร์ว่าจะเอาลูกชิ้นใส่ลงในชามไหนจึงจะยุติธรรม วนไปจนกว่าลูกชิ้นจะหมด ทุกคนคอยจ้องตาเป็นมันกอดชามของตัวไว้แล้วคอยยื่นส่งให้คนแบ่งเอาลูกชิ้นหย่อนลงมา นับกันเสียงขรมว่าได้แล้วกี่ลูก และถ้ามีเศษล่ะจะทำอย่างไร ทุกคนตกลงว่าให้เอาไว้กองกลาง ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นเจ้าตัวเล็กมองตามลูกชิ้นที่จะลงไปอยู่ชามที่เป็นกองกลางจนน้ำลายไหลเนื่องจากอยากได้มากกว่าคนอื่น กิจกรรมแบบนี้ก็สนุกไปอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้มาถึงหมูสับซึ่งมีปัญหามากกว่า เส้นก๋วยเตี๋ยว ผักชี ต้นหอม ถั่วงอก ก็ต้องจัดแบ่งไว้เป็นกอง ๆ เพื่อให้แต่ละคนมาเลือกเป็นเจ้าของส่วนตัว สำหรับปรุงกับเส้นและถั่วงอกและอื่น ๆ ที่ไม่จำกัดปริมาณ วิธีการเลือกว่าใครจะได้กองไหนนั้นขอให้น้องที่อายุน้อยที่สุดเป็นคนเลือกก่อน พี่ ๆ ต้องเสียสละ กิจกรรมนี้แม้จะต้องใช้เวลาสักหน่อยแต่ก็คุ้มค่าเพราะเป็นการสอนเรื่องการเสียสละให้ผู้ที่อ่อนแอกว่า ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงการสอนให้เสียสละที่นั่งให้คนแก่  เด็ก และผู้หญิง ในอนาคตตอนนี้พี่ ๆ ที่ยืนรอเข้าแถวเรียงตามลำดับอายุอยู่ก็จะเริ่มเตือนน้องตัวเล็กว่าเลือก ๆ ไปเถอะพี่หิวจะแย่แล้ว ถ้าไม่พอพี่จะเอาของพี่เพิ่มให้ทีหลัง เท่านั้นแหละเจ้าตัวน้อยก็เลือกได้ทันที แล้วหันมาทำตาโตกำชับว่าอย่าลืมที่สัญญาไว้นะ ในความเป็นจริงแล้วตัวเองก็ยังกินของตัวเองไม่หมด การแบ่งปันนี้ติดตัวทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ จนทำให้ลูกบ้านนี้มีพฤติกรรมเหมือนกัน คือ ถ้าจะซื้อของมากินในบ้านต้องซื้อเผื่อคนอื่นด้วยอย่างน้อยหนึ่งชุด เพื่อตัวเองจะได้กินของตัวเองสบายใจไม่ต้องมีคนอื่นมาขอแบ่งด้วย ใครอยากแจมด้วยก็กรุณาเอาส่วนที่ซื้อมาเผื่อนั้นไปแบ่งกันเอาเองไม่เกี่ยวกับส่วนของผม การแบ่งปันอาหารเป็นมารยาทในการกินสากล เพราะฝรั่งก็จะจัดอาหารเป็นชิ้น ๆ เท่าจำนวนคนเช่นกัน อาจจะมีไว้เผื่อบ้างแต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นการให้รู้จักการแบ่งปันนอกจากจะเป็นการสอนให้รู้จักการเอื้ออาทรซึ่งกันและกันภายในหมู่พี่น้องแล้วยังเป็นการสอนมารยาทสากลให้แก่เด็ก ๆ อีกด้วย การเรียนรู้เกิดขึ้นในบ้านได้เสมอ และแล้วยังไม่ทันจะได้หยุดพักให้หายเหนื่อยเสียงหลานชายตัวอ้วนกลมตะโกนมาว่า น้าขาวครับ ถึงเวลานับคุกกี้อีกกระป๋องแล้วนะครับ น่ารักจริง

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com