ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







เด็กคิดอย่างไรผู้ใหญ่คิดไม่ถึง

เมื่อสมัยที่ลูก ๆ ยังเล็กอยู่ สิ่งที่มักจะทำให้ฉันวิตกกังวลก่อนเข้านอนเสมอ คือ การตื่นเช้าขึ้นมาแล้วลูกไม่ยอมไปโรงเรียน โดยเฉพาะเจ้าลูกชายคนเล็ก ต้องมีการชักแม่น้ำทั้งห้า บวกกับมหาสมุทรอีกหกขึ้นมาสาธยายมีทั้งการขู่การปลอบสารพัด ซึ่งก็มักจะไร้ผลจนในที่สุดก็ต้องขืนใจจับตัวใส่เข้าไปในรถโรงเรียนที่มารับ ทำให้เกิดความโกลาหล เหนื่อยกันไปทั้งบ้าน  จนเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่สิ่งที่แปลกก็คือ  เจ้าลูกชายตัวดีเมื่อกลับมาจากโรงเรียนแล้วจะต้องนั่งลงบนบันไดที่จะขึ้นไปชั้นบน  เอาข้อศอกวางลงบนหัวเข่ายกมือขึ้นมากุมที่ศีรษะแล้วถามอย่างเหนื่อยอ่อนว่า "แม่ครับ วันนี้เคนนี่ต้องไปโรงเรียนไหม" ฉันก็รีบตอบเอาใจตอบโดยไม่ได้เฉลียวจิตใด ๆเลย ว่า "วันนี้เคนนี่ไม่ต้องไปโรงเรียนแล้วจ๊ะ พรุ่งนี้จึงค่อยไป" ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะลูกได้ไปมาแล้ว และตอนนี้ก็เป็นเวลาเย็นแล้ว ฉันตอบผิดตรงไหนล่ะ  สำหรับลูกนั้นเมื่อได้รับคำตอบก็พอใจลูกก็พยักหน้ารับคำเป็นอย่างดี  พร้อมทั้งมีอาการแจ่มใสมีชีวิตชีวาขึ้นมาในบัดดล ทำให้ทั้งลูกทั้งแม่แฮปปี้  ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นกินข้าว อาบน้ำ ดูทีวี เล่านิทานก่อนนอนกันอย่างมีความสุข  แต่แล้วพอวันรุ่งขึ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนเดิม คือ เจ้าลูกชายตัวดีก็จะตื่นขึ้นมา แล้วลุกขึ้นมานั่งที่บันไดขั้นเดิม ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงพาไปอาบน้ำแต่งตัวเพื่อไปโรงเรียน  แถมบอกกับพี่เลี้ยงว่า "แม่บอกว่า  วันนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน ค่อยไปพรุ่งนี้" เมื่อพี่เลี้ยงของลูกมารายงาน ตอนแรกฉันก็ปฏิเสธลูกว่าไม่ได้เคย บอกอย่างนั้นสักหน่อย แต่ลูกก็ยืนยันพร้อมทั้งร้องไห้โอดครวญ แถมยังกล่าวหาว่า แม่พูดโกหก ฉันเองก็ให้รู้สึกงงว่าได้บอกลูกอย่างนั้นตอนไหน  แต่เนื่องจากตัวเองก็ต้องรีบไปทำงานเหมือนกัน สิ่งที่จะต้องให้ยุติก็คือ จับลูกใส่รถโรงเรียนให้ได้ เหตุการณ์เป็นอย่างนี้มาหลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่งฉันจึงได้ถึงบางอ้อว่า เนื่องจากได้คุยกับนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้อธิบายว่า เด็กที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกชายของฉันคืออายุ 3 ขวบ ครึ่งนั้นจะยังไม่มีพัฒนาการทางด้านความคิดเกี่ยวกับเวลาดีพอ  ดังนั้นทุกวันไหน ๆจึงเป็นวันนี้สำหรับเขาเสมองั้นนี่เล่า เล่นมาถามแม่ไว้ก่อนทุกวันก่อนนอนโดยคิดอย่างเด็ก เพื่อให้เกิดความมั่นใจ แล้วแม่ก็ตอบโดยคิดอย่างผู้ใหญ่มันจึงหลงกันไปคนละทาง ความจริงเมื่อคิดดูแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะวันที่จะเป็นวันพรุ่งนี้ไม่เคยปรากฏตัวให้เห็นเลย ปรากฏทีไรก็เป็นวันนี้เสียทุกที สำหรับเด็กแล้วเขาคงต้องคิดหนักเอาการทีเดียว เพราะวันไหน ๆ มันก็ไม่เห็นแตกต่างกันเล้ย แล้วจะมาตั้งชื่อเรียกว่า วันนี้ พรุ่งนี้ ได้อย่างไร เป็นงงค่ะ 

นอกจากฉันจะมีประสบการณ์ในด้านความคิดเรื่องเวลาของเด็กจากลูกของตัวเองแล้ว ฉันยังมีประสบการณ์ในด้านความคิดเข้าใจเรื่องภาษาของเด็กอีกด้วย  เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนก็จะถูกสอนให้อ่านตัวพยัญชนะในภาษาไทยซึ่งมีมากถึง  44  ตัว  พร้อมทั้งสระและวรรณยุกต์อีก รวมแล้วก็มากโขอยู่สำหรับหัวสมองน้อย    ที่จะต้องจดจำและฝึกฝนให้สามารถอ่านออกและสะกดได้ วิธีการหนึ่งที่มักจะถูกนำมาใช้ในการที่จะช่วยฝึกการอ่านและการสะกดคำก็คือ  รูปภาพที่นำมาประกอบคำอ่านนั่นเอง   การฝึกฝนนั้นคุณครูผู้สอนก็จะพยายามอย่างยิ่งที่จะสอนให้ลูกศิษย์ตัวน้อย  ๆ อ่านให้ได้คล่อง จึงมักจะให้ลูกยอว่าหนูอ่านเก่ง เมื่อกลับบ้านให้ไปอ่านให้คุณพ่อคุณแม่ฟังที่บ้านด้วย พ่อลูกชายของฉันอยากจะอวดพ่อแม่ว่าตัวเองอ่านเก่งอย่างที่ครูชม ก็มักจะบอกให้แม่ฟังเขาอ่าน ฉันเองก็เป็นปลื้มที่ลูกชายอ่านได้เป็นอย่างดี และเอาใจใส่อ่านให้แม่ฟังอย่างเสียงดังฟังชัด แม่เองก็ฟังเสียงลูกอ่านอย่างชื่นชม   ฉันฟังลูกอ่านอย่างเพลิดเพลิน   แต่แล้วก็ต้องสะดุ้งสุดตัวเมื่อลูกชายเปล่งเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ถอ ไม้หันอากาศ งอ แป๊ง (แป๊ง มาจากคำว่ากระแป๋ง เป็นภาษาของภาคตะวันออก ถ้าเรียกสั้น ๆ เสียงจะเหน่อเป็น  แป๊ง หมายถึง ถังสำหรับใส่น้ำ) ถามลูกว่าทำไมไม่อ่านว่า ถัง ล่ะ ลูกทำสีหน้างงแล้วถามว่า "ก็มันใช้ใส่น้ำ ไม่เรียกว่า แป๊งหรือครับ" คงจะเป็นความคิดที่เด็กเกิดการเรียนรู้แบบสรุปรวมกับสิ่งที่เขามีความคิดรวบยอดมาก่อน ดังนั้นไม่ว่าอะไรที่ใช้ใส่น้ำจึงเป็น แป๊ง สำหรับฉันนั้นคำตอบทำให้รู้ว่า ลูกน่าจะยังไม่เกิดความคิดรวบยอดในการผสมคำในภาษาอย่างแน่นอน และก็ให้นึกสงสัยว่าคำอื่น ๆ ก็น่ากลัวว่าคงอ่านแบบท่องจำบวกกับการใช้รูปแทนการสะกดเสียละมากกว่าเป็นแน่  นึกขึ้นมาแล้วก็ให้นึกถึงบุญคุณของคุณครูที่สามารถสอนให้เราสามารถอ่านออกสะกดได้มาจนทุกวันนี้        

ในเรื่องการเรียนรู้ต่างๆ ของเด็ก ๆ นั้นคงจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาอาจจะเข้าใจไม่ตรงกับผู้ใหญ่ หรืออาจจะเกิดการสับสนในการคิดก็ได้ เด็กจึงมักจะมีคำถามที่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร เช่น ถ้าลูกสอบได้คะแนน แค่ 1 คะแนนไม่ดี ต้องได้คะแนนมาก ๆจึงจะดี แต่ถ้าสอบได้เลขที่มาก ๆ ไม่ดี ต้องสอบให้ได้ที่ 1 ถึงจะเรียกว่าเก่ง ลูกก็บอกว่างง จะเอายังไงกันแน่ 

นอกจากเรื่องต่าง ๆ ดังที่เล่ามานี้แล้วยังมีเรื่องที่เด็ดที่เป็นความไม่เข้าใจของพ่อลูกชายเจ้าปัญหาของฉันที่ทำให้ต้องอธิบายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันเลยทีเดียว เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งลูกชายของฉันกลับมาจากโรงเรียน ก็เล่าว่าวันนี้คุณครูสอนว่าให้นักเรียนทุกคนเป็นคนที่มีใจเมตตากรุณา ช่วยเหลือคนที่เขา ตกทุกข์ได้ยากพร้อมกันนี้ลูกชายของฉันก็ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า "คุณครูของลูกทำไม่ถูก ลูกไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเราถึงต้องช่วยคนที่เขาตกทุกข์ได้ยากล่ะ  เพราะคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ไม่น่าจะมีความทุกข์มากนะ ความจริงเราน่าจะช่วยคนที่เขา[1]ตกทุกข์ได้ง่าย [1]มากกว่า จริงไหมครับแม่" เออ  นั่นสินะ  น่าคิดเหมือนกัน ต่อไปนี้จะพูดอะไรกับลูก เห็นทีจะต้องระมัดระวังกันสักหน่อยซักซ้อมความเข้าใจกันเสียให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องที่จะต้องมีการทำสัญญาตกลงกัน เพื่อว่าจะได้ไม่คิดกันไปคนละทางไงล่ะ สงสารเด็กบ้าง ช่วยกันเข้าใจเขาหน่อยนะคะ  

บางทีบางปัญหาของพ่อลูกชายตัวน้อยก็ทำให้ฉันจนมุมอยู่เหมือนกัน  เช่น วันหนึ่งเขาจะถามฉันว่า คำพังเพยที่ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่านั้น มีความหมายว่าอย่างไร เสือพึ่งป่านั้นพอเข้าใจแต่ทำไมน้ำจึงต้องพึ่งเรือล่ะ   น้ำพึ่งเรือตอนไหน หรือเป็นเพราะว่าถ้าไม่มีเรือมันจะไม่มีน้ำ ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่  ฉันต้องยอมรับว่าไม่รู้คำตอบที่ถูกต้อง เลยขอผลัดลูกว่าจะไปถามคุณครูของแม่ให้เฉลยปัญหานี้ให้ นอกจากนี้ลูกยังให้ความรู้แก่ฉันอีกว่า แม่รู้ไหมว่าทำไมเด็ก ๆ ในห้องของลูกจึงคุยกันแซดไปหมดไม่มีใครยอมหยุดคุยเลย ลูกเล่าว่าวันก่อนคุณครูสอนภาษาไทยเขาสอนพวกเราว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง  ดังนั้นถ้าเราพูดไปจะเสียแค่สองไพเบี้ยเอง แต่ถ้านิ่งจะเสียจะเสียทองเท่าลูกตำลึง (เพราะนิ่ง เสียตำลึงทอง) ฉันจึงได้ถึงบางอ้อว่า ที่เด็ก ๆ เล่นกันคุยกันไม่ยอมอยู่นิ่ง เพื่อจะได้ฟังครูสอนบ้างเลย เป็นเพราะเหตุนี้เองหรือ แม้จะรู้ว่าไม่น่าจะใช่สาเหตุของการอยู่ไม่นิ่งของเด็ก แต่ก็ทำให้ฉันคงต้องไม่ลืมที่จะไปกำชับกำชาลูกศิษย์ของฉันที่กำลังจะออกไปเป็นครูให้ระวังการใช้ภาษาในการสอนให้เหมาะสมกับวัย  และการอธิบายพอสังเขปห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะฉันเริ่มกลัวว่าลูกศิษย์ของฉันจะคิดไม่ทันเด็กขึ้นมาเสียแล้ว             

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com