ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







การคิดกับการพัฒนาตน

บทที่ 6

ศิลปะในการตั้งคำถาม: การแสวงหาเพื่อเจริญปัญญา

ผลลัพธ์การเรียนรู้ 

  • รู้เหตุผลในการตั้งคำถาม

  • อธิบายการตั้งคำถามเพื่อการถามตอบที่ตรงประเด็นและตรงความต้องการ

  • สามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสม

  • รู้จักวิธีการตอบโต้กับคำถาม

  • อธิบายรูปแบบของคำถามประเภทต่าง ๆ

  • รู้จักเชื่อมโยงประเภทของคำถามที่มีความสัมพันธ์กับการคิด

  • รู้คุณลักษณะที่ดีของคำถาม

  • บอกองค์ประกอบของคำถามที่นำไปสู่การคิดที่ลึกซึ้ง

(คำคม: ถ้าคำถามคือเรื่องเงิน คำตอบที่ได้รับจะทำให้รู้ว่า ทุกคนนับถือศาสนาเดียวกัน: โวลแตร์)

 1. แนวคิดเกี่ยวกับคำถามและการเจริญปัญญา

เด็กในวัยก่อนเข้าเรียนจะเป็นวัยที่ชอบถามคำถามจนมีการขนานนามว่าวัยเจ้าปัญหา คนที่ถามคำถามคือคนที่ครุ่นคิดเพื่อการหาคำตอบ ความสับสนในจิตใจมักเกิดจากการไม่สามารถหาคำตอบที่ตอบสนองความคิดของตนได้

คำถามไม่ได้ถูกใช้โดยเด็ก ๆ เท่านั้น แต่เป็นประโยคคำพูดที่ถูกใช้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ถาม ลูกตอบ เพื่อนถาม เพื่อนตอบ ครูถาม นักเรียนตอบและ ในทางกลับกันผู้ตอบก็อาจกลับมาเป็นผู้ถาม การถามคำถามเป็นการแสดงความต้องการที่ได้ข้อมูลที่เพิ่มเติมไปจาข้อมูลเดิมที่มีอยู่ จึงเป็นการรวบรวมความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

คำถามเป็นประโยคที่เป็นรูปแบบของการตั้งทู้เพื่อต้องการหาคำตอบ ดังนั้นผลลัพธ์ของคำถาม คือ คำตอบ ในทางการศึกษาการตั้งคำถามเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อเป็นตัวกระตุ้นผู้เรียนให้แสวงหาสาระที่ต้องเรียนรู้และชี้แนะช่องทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ในทางสังคม คำถามเป็นตัวกำหนดความคิดในเชิงการแก้ปัญหา การตอบคำถามจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ตอบคิดค้นและหาคำตอบที่ตนเองคิดว่าน่าจะถูกต้อง

คำถามมีนัยอยู่ในบริบทของการพูดดังเช่นประโยคบอกเล่าทั่วไป การใช้คำถามจึงเพื่อการแสดงออกถึงความคิดของผู้ใช้คำถาม ความสนใจในบริบทของข้อมูล ยังแสดงถึงความรู้สึก อารมณ์ เจตคติ และภูมิปัญญาของผู้ใช้คำถามได้ด้วยเช่นกัน การถามคำถามและการตอบคำถามเป็น จึงเป็นการประเทืองปัญญา

2. ผลลัพธ์ของคำตอบที่เกิดจากคำถาม

คำตอบคือเงื่อนไขที่เกิดจากคำถาม แต่ผลลัพธ์ของคำตอบมีผลกระทบใน ๒ ด้าน คือ

  • ด้านผลลัพธ์ทางสังคม Social outcome

  • ด้านผลลัพธ์การสร้างสรรค์และการประดิษฐ์สิ่งใหม่ A creative and inventive outcome

ด้านผลลัพธ์ทางสังคม (Social outcome)

ทุกคนมีคำถามที่ถามคนอื่นอยู่เสมอ จึงพบว่าเมื่อพบคนรู้จัก คุ้นเคยจะมีคำถามตามมารยาทหรือตามธรรมเนียมวัฒนธรรมเป็นการเปิดการสนทนา  เช่น คนไทยทักกันว่า ไปไหนมา กินข้าวแล้วหรือยัง  เป็นไงบ้าง คำถามเหล่านี้มักจะไม่ได้ถูกถามอย่างจริงจัง และถ้าเป็นเช่นนั้นการได้คำตอบหรือไม่ได้คำตอบจะไม่มีผลต่อความรู้สึกของผู้ถามและผู้ตอบ คำถามเช่นนี้เป็นเพียงแสดงความรู้จักกัน

ในทางสังคมคำถามเหล่านี้อาจมีความสำคัญที่เข้าไปสู่การสร้างความใกล้ชิดและเป็นกุญแจสำคัญที่เพิ่มความสัมพันธ์ไมตรีถ้าทั้งผู้ถามและผู้ตอบให้คำตอบแก่กันและกัน การถามและการตอบเป็นเครื่องหมาย ของความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันทั้งในเชิงลบและเชิงบวกได้ โดยเฉพาะในการสนทนากันการตั้งคำถามจะเป็นการสร้างโอกาสให้มีการสื่อสารการได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นจึงเห็นได้ว่าบางคนจะสามารถพูดคุยกันได้อย่างถูกคอก็เพราะมีการผูกคำถามต่อเนื่องกันอย่างถูกช่องทาง ทำให้ผู้ตอบมีความสุขที่จะตอบและผู้ถามมีความพึงพอใจที่ได้รับคำตอบนั้น ความต่อเนื่องของการสนทนาจึงขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามที่ดีได้อย่างไร

การตั้งคำถามที่ไม่ดีอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งเนื่องจากคำถามอาจสื่อไปในทางเยาะเย้ย ถากถาง หรือแสดงความเคลือบแคลงใจได้ เช่นถามว่า คุณแน่ใจนะว่าคุณจะทำสำเร็จ ผู้ที่ถูกถามด้วยคำถามนี้อาจจะมองในแง่ดีว่าผู้ถามมีความห่วงใย เกรงว่าจะยากเกินไป ซึ่งอาจจะหมายความวา ผู้ถามยินดีช่วย หรืออาจจะคิดว่าเป็นการดูหมิ่นดูแคลนว่าไม่มีความสามารถที่จะทำงานชิ้นนี้ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของการพูดและการตีความ จะพบว่าความสัมพันธ์ทางสังคมจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลสามารถตั้งคำถามและโยนคำตอบกลับไปกลับมาในระหว่างการสนทนาได้เป็นอย่างดี

ด้านผลลัพธ์การสร้างสรรค์และการประดิษฐ์สิ่งใหม่ (A creative and inventive outcome)

ในทางวิชาการการตั้งคำถามเป็นศิลปะที่มนุษย์ใช้เพื่อการแสวงหาความรู้เพื่อเจริญปัญญา ผู้ตั้งคำถามย่อมต้องการคำตอบที่ตอบสนองข้อสงสัยหรือได้ความรู้ใหม่ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากความรู้เดิม คำถามอาจเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงความคิดจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือจากมุมมองหนึ่งไปสู่อีกมุมมองหนึ่ง คำถามในลักษณะนี้จะเป็นคำถามที่สร้างความคิดที่เป็นตรรกะ (Logic thinking) ซึ่งทำให้เกิดภาพใหม่ ๆ จะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นจากจุดความคิดนี้เสมอ

ในโลกนี้มีข้อคำถามอีกมากที่ต้องการคำตอบที่หลากหลายในหลายแง่หลายมุม ดังนั้นถ้าสามารถนำมุมมองจากคำตอบที่ได้รับไปประยุกต์กับความคิดที่มีอยู่เดิมได้ก็จะสามารถสร้างสรรค์และประดิษฐ์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้  

 3. คำถามกับระดับของความคิด

การตั้งคำถาม คือการเริ่มต้นของการค้นหาคำตอบที่แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับข้อมูล ระดับการคิดของคำถาม เป็นการแสดงความประสงค์ว่าต้องการได้ข้อมูลที่เป็นการแสดงความรู้ในเนื้อหาที่ระลึกได้หรือต้องการได้เหตุผล ซึ่งในการตั้งคำถามเช่นสามารถทำได้ด้วยการนำระดับการคิดตามทฤษฎีของ บลูม มาใช้หรือใช้ต้องการลักษณะของคำตอบที่เป็น การคาดการณ์ การอนุมาน หรือการประเมิน

บลูม (Bloom)  กล่าวว่า ทักษะทางสติปัญญาจะแสดงเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความคิด การแก้ปัญหาด้วยการใช้สมองหรือสติปัญญา เรียกชื่อว่า พุทธิพิสัย บลูม ได้จัดระดับหมวดหมู่ของคำถามโดยให้ความคิดเห็นมีความสอดคล้องกับระดับของพุทธิพิสัยที่เป็นความลึกหรือความยากที่ผู้ตอบต้องคิด (Bloom Taxonomy of Questioning and Bloom’s Taxonomy of Thinking) ซึ่งมี 6 ระดับ

ระดับที่ 1 ระดับความคิดที่ได้คำตอบในระดับความรู้ (Knowledge) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของการใช้สมองในการคิด ระดับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น คือ การใช้ความจำเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ เป็นพฤติกรรมๆด้านการท่องจำสิ่งที่รับรู้มาและเรียกนำมาใช้ด้วยการภาพที่ถูกจำไว้ในร่องความจำของสมอง ผู้ตอบจะคิดว่ามีภาพที่เก็บไว้ในสมองอยางไร ภาพที่เก็บไว้อาจเป็นรูปภาพ ตัวอักษร สัญลักษณ์ หรือ แผนภูมิ เป็นต้น 

ในระดับความรู้นี้ บลูม กล่าวว่าผู้ตอบจะใช้สมองคิดในรูปแบบของการ จำได้ (Remembering); ท่องจำ (Memorizing); รู้จำ (Recognizing); ระลึกจำคุณลักษณะ (Recalling identification); ระลึกจำข่าวสาร (Recall of information);

คำที่ใช้ถาม ได้แก่

  • ใคร Who

  • อะไร  what

  • เมื่อไหร่  when

  • ที่ไหน where

  • มากน้อยเท่าไหร่ how much / how many

ระดับที่ 2 ระดับความคิดที่ได้คำตอบในระดับความเข้าใจ (Comprehension)  เป็นระดับของการใช้สมองในการคิด ด้วยการพิจารณา เปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายของความรู้นั้น เช่น เข้าใจหลักการ เข้าใจกระบวนการหรือวิธีการปฏิบัติ มีการมองภาพที่ปรากฏลึกลงไปถึงความคิดรวบยอดเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ เช่น ให้แปลความ แปลข้อมูลจากสื่อชนิดหนึ่งไปยังสื่ออีกชนิดหนึ่งบรรยายด้วยภาษาของตนเองหรือให้จัดระบบหรือเลือกหาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิด

คำถามที่ใช้คือ อย่างไร (How) ซึ่งเป็นถามเพื่อให้เกิดการอธิบาย (Describe) หรือบรรยาย การบรรยายนี้จะเป็นการบรรยายจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่แล้ว เช่น บอกวิธีการขับรถ หรือการทำขนมเค็ก เป็นต้น เช่น

  • ให้เล่าซ้ำ (Retell)

  • สะท้อนความ (Paraphrase)

  • ตัวอย่าง คำถามที่ใช้

ระดับที่ 3 ระดับความคิดที่ได้คำตอบที่นำไปใช้ (Application) เป็นระดับของการใช้สมองในการคิดที่ให้ผู้ตอบคิดว่าจะนำความรู้นั้นไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างไร เช่น เมื่อเรียนเรื่องการคำนวณตัวเลขแล้วนำไปคิดเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันในครอบครัว หรือการคำนวณปริมาณสิ่งของและเงินลงทุนเพื่อคิดจุดคุ้มทุน เป็นต้น เป็นการแก้ปัญหา นำข้อมูลมาใช้เพื่อผลิตผลลัพธ์ ใช้ข้อเท็จจริง กฎเกณฑ์ และหลักการ เป็นต้น

คำถามที่ใช้ คือ คำว่า อย่างไร ตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างของอะไร หรือ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

คำถามที่ใช้ ว่า ทำไม (Why) ทำไมจึงมีความสำคัญ

ระดับที่ 4 ระดับความคิดที่ได้คำตอบวิเคราะห์ (Analysis) เป็นระดับของการใช้พฤติกรรมด้วยการคิดพิจารณาแยกย่อยข้อมูลออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อแสวงหาคำตอบ เช่น การจำแนกงานเพื่อเตรียมงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่อะไรต้องทำก่อนหลังเพราะอะไร การวิเคราะห์เหตุผลหลัก เหตุผลย่อย การจำแนกองค์ประกอบเพื่อหาแนวทาง เป็นต้น

  • ตัวอย่างคำถามที่ใช้ ได้แก่

  • องค์ประกอบของสิ่งนี้มีอะไรบ้าง

  • ให้จำแนกแยกสิ่งนี้ตามแนวคิดที่กำหนดให้

  • ให้ทำโครงสร้างหรือไดอาแกรม

  • ให้เปรียบเทียบความเหมือนความแตกต่าง

  • ให้ลงรายละเอียดขององค์ประกอบ

ระดับที่ 5 ระดับความคิดที่ได้คำตอบสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นการนำความคิดมารวบรวม และมาประยุกต์ใช้เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ เช่น การออกแบบเครื่องแบบ เสื้อผ้าแฟชั่น การคิดค้นส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงเป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นภาษาและเป็นสิ่งของ เชื่อมโยงความคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น

ตัวอย่าง คำถามที่ใช้ ได้แก่

  • คุณคาดเดาอะไร หรืออ้างอิงจากอะไร

  • ความคิดอะไรที่สามารถนำเข้ามาผสมกลมกลืนกันได้

  • จะสร้างหรืออกแบบสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไร

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเอาสิ่งเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกัน คุณคิดว่าจะหาทางแก้ปัญหาได้อย่างไร

ระดับที่ 6 ระดับความคิดที่ได้คำตอบประเมิน (Evaluation) เป็นการคิดที่ประเมินคุณค่าและมีการตัดสินใจ วินิจฉัยคุณค่า ประเมินว่า ดี หรือไม่ดี หรือประเมินผลได้ ผลเสีย การตัดสินใจแก้ปัญหา ประเมินการแก้ปัญหาสิ่งที่มีข้อขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พัฒนาความคิดเห็นและการตัดสินหรือการลงความเห็น

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ ได้แก่

  • คุณเห็นด้วยไหม

  • คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งนั้น

  • อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

  • ให้จัดวางเรียงลำดับข้อคิดหรือแนวทางตามความยากง่าย

  • คุณจะตัดสินใจอย่าไร

  • เกณฑ์อะไรที่นำมาใช้เพื่อการวัดผล เป็นต้น

 

4. ทฤษฎีรูปแบบการใช้คำถาม

บลูม และเทอร์เนย์ โมเดล (The Bloom –Turner Model)

รูปแบบของการใช้คำถามเป็นการฝึกทักษะกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ข้อมูลที่ได้รับซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอน คือ

ถามเพื่อให้รื้อฟื้นความจำ (Factual) ให้บอกข้อมูลที่ได้เคยจำมาก่อน การถามประเภทนี้จะสามารถฝึกทักษะในการจดจำข้อมูลที่เป็นภาพ เสียง และความรู้สึก 

ถามเพื่อให้ได้ใจความ(Comprehension)  ให้อธิบายความคิดเห็นด้วยภาษาของตนเอง หรือให้แปลความจากสิ่งที่ได้รับมา

ถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจ (Application)  ในทฤษฎีทั่วไปและให้นำมาประยุกต์ในสถานการณ์ให้

ถามเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ (Analysis) ให้ผู้เรียนแยกส่วนที่เป็นเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ และศึกษาธรรมชาติของส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น และความสัมพันธ์ ระหว่างกัน

ถามเพื่อ (Synthesis) สร้างความคิดขึ้นมาใหม่ เป็นแผนหรือเป็นการทดลอง

ถามเพื่อการประเมิน (Evaluation) ให้ผู้เรียนทำการตัดสินใจหาข้อยุติโดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ          

บาร์เนส โมเดล (The Barnes Model)

รูปแบบของการใช้คำถามเป็นการถามเพื่อการได้ข้อมูลตามที่ต้องการ คือ

      คำถามเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง  (Factual Questions) ต้องการให้ผู้เรียนให้ข่าวสารหรือชื่อหรือปรากฏการณ์

      คำถามเพื่อแสวงหาเหตุผล (Reasoning Questions) ต้องการให้ผู้เรียนคิดแบบดัง หรือให้อธิบาย ให้แปลความหมาย หรือสร้างลำดับความที่มีหลักการ

      คำถามที่ไม่แสวงหาความเป็นเหตุผล (Open, Non-Reasoning Questions อาจจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ได้ แต่จะเปิดโอกาสกว้างให้ได้ตอบ

      คำถามเพื่อการสังคม (Social Questions) รวมทั้งคำถามที่ถูกควบคุมและสร้างรูปแบบเพื่อการจัดการในกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสังคม

แอฟ เอน โอ โมเดล ( From Now On Model = FNO Model)

รูปแบบของการใช้คำถามเพื่อให้เกิดพลังของการคิดจากจิตและวิญญาณโดยยึดหลักการใช้ชีวิตและใช้พยายามอธิบายความหมายของการเป็นมนุษย์

เริ่มต้นจากการตั้งคำถามหลัก (Essential Questions และโยงไปสู่คำถามรอง (Subsidiary Questions) ซึ่งเป็นคำถามประเภทต่าง ๆ ที่เสนอแนะไว้ เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

  • กลุ่มบอก รวม แยก (Telling Probing Sorting Sifting)

  • กลุ่มจัดระบบ วางแผน (Hypothetical Organizing Planning)

  • กลุ่มอธิบาย ขยายความ (Clarification Elaborating)

  • กลุ่มกลยุทธ (Strategic Provocative  Divergence Inventive)

  • กลุ่มไม่มีคำตอบแน่นอน (Irrelevant Unanswerable)

 5. คำถามกับประเภทของคำตอบ

การตั้งคำถามจะต้องมีคำที่แสดงความหมายว่าต้องการคำตอบอะไร ซึ่งในการตั้งคำถามนั้นมีคำที่เป็นหลักที่นำมาใช้ได้แก่ คำว่า ใคร (Who) เมื่อต้องการข้อมูลทีเป็นบุคคลว่า ใครทำ หรือ ใครถูกกระทำ คำว่า อะไร (What) เมื่อต้องการรู้ข้อมูลที่เป็นเนื้อความ เป็นเรื่องราว  คำว่า เมื่อไหร่ (When) เมื่อต้องการข้อมูลที่เป็นเวลา ที่ไหน (Where) เมื่อต้องการข้อมูลที่เป็นสถานที่ ทำไม (Why) เมื่อต้องการข้อมูลที่เป็นเหตุผล ทำอย่างไร How ข้อมูลที่เป็นเงื่อนไข หรือเป็นกระบวนการที่ต้องทำตามลำดับขั้น ทำมากน้อยเท่าไหร่ คำว่า เท่าไร (How much/How many) เมื่อต้องการข้อมูลที่เป็นจำนวน ปริมาณ ความเข้ม หรือความถี่

ด้วยโครงสร้างของคำที่เป็นคำถามทำให้สามารถจัดรูปแบบของการถามเพื่อประเภทของคำตอบได้การจะตอบอย่างไรขึ้นอยู่กับคำถามที่ใช้ ตอบจากคำถามที่ขึ้นต้นจึงเป็นข้อมูลที่เป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำ เป็น คน หรือสัตว์ การถามว่าใครเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงมากกว่าเหตุผล การจะถามให้ได้ข้อมูลลึกลงไปอีกต้องต่อยอดของคำถามนั้นออกไปเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของข้อมูล เช่น ใครตัดต้นไม้ ทำไมเขาไม่รักต้นไม้ และด้วยโครงสร้างของคำถาม เกิดเป็นลักษณะคำถามซึ่งมีความหมายที่ทำให้เกิดคำตอบตามที่ต้องการได้ แต่อย่างไรก็ตามการถามในเรื่อง ๆ หนึ่งมีบริบทที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อมโยงกับคำตอบที่หลากหลายได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามระดับของคำถามต้องสอดคล้องกับระดับความคิดของผู้ตอบด้วย ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ รวมทั้งประสบการณ์เดิมที่เป็นฐานของความคิด

  1. ถามให้อธิบาย (Descriptive Questions) เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่มีระดับความคิดระดับต้น เช่น ถ้าคำตอบเป็นการอธิบายกระบวนการ  คุ๊กกี้มีวิธีการทำอย่างไร หรืออธิบายเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง เช่น การเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์มีลักษณะอย่างไร เด็กที่ติดยาเสพติดจะมีลักษณะการแสดงออกอย่างไร เป็นการถามที่ไม่ได้ต้องการเหตุผล ต้องการแค่เท็จจริงและความเข้าใจพื้นฐาน
  2. ถามให้วิเคราะห์ (Analyzing Questions) การวิเคราะห์จะทำให้ได้คำตอบที่นำไปสู่การจัดการกับข้อมูล ไม่ใช่การแยกองค์ประกอบเท่านั้นแต่เป็นการนำเหตุผลขององค์ประกอบมาพิจารณาด้วย ทำไมน้ำตาลจึงทำให้คนอ้วน
  3. ถามให้คิดต่อ (Inference Questions) เป็นคำถามประเภทยั่วยุให้อยากคิดค้น แสวงหาความรู้ต่อไป คำถามจึงเกิดขึ้นในลักษณะที่ให้หาข้อมูลเพิ่มเติม เช่นให้หาข้อเปรียบเทียบ ค้นหาเหตุผล สร้างความอยากให้คิดต่อ เช่น ทำไมอากาศร้อนจึงลอยสูงขึ้นและอากาศเย็นลอยตัวต่ำ โบสถ์กับวิหารต่างกันอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ พี่น้องตระกูล ไรท์ (Wright) ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้นกบิน ทำไมคนจึงบินไม่ได้ คำตอบไม่ใช่แค่เพราะนกมีปีกเท่านั้น
  4. คำถามเพื่อการเชื่อมโยง (Transfer Questions) เป็นการใช้คำถามเพื่อให้เกิดการคิดที่ไม่ได้ใช้พื้นฐานของคำถามมาเป็นตัวคำตอบ  เช่น การแต่งกายบอกอาชีพได้อย่างไร เมื่อต้นไม้โดนตัดโค่น สภาพของดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร
  5. คำถามเพื่อการตั้งสมมติฐาน (Questions about Hypotheses) เป็นคำถามที่คาดเดา ประเมินค่า
  6. คำถามข้อมูลที่ปรากฏ (Factual Questions) ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง การบอกข้อมูลประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการจำ เช่น ถามหมายเลขโทรศัพท์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ คำถามประเภทนี้จะมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว แต่การตั้งคำถามประเภทนี้อาจนำไปสู่คำตอบที่ซับซ้อนลึกซึ้งได้เช่นกัน เช่นคำถามที่ถามว่า ทำไมยางจึงมีความยืดหยุ่น. เป็นต้น คำถามประเภทนี้ใช้ได้ดีในการแสวงหาความจริง (Inquiry based project) ถ้าเป็นคำตอบที่ค้นหาได้
  7.  ถามให้สะท้อนความ (Reflexive Questions) การสะท้อนความคือการบอกผลลัพธ์กลับมายังข้อมูลเดิมเพื่อตรวจสอบการสื่อสาร หรือการสื่อความหมายว่าตรงตามข้อมูลเดิมหรือไม่
  8. ถามให้วิพากษ์ (Criticizing Questions) การวิพากษ์ คือ การค้นหาสิ่งที่ไม่สอดคล้องกันในบริบทหนึ่งและนำออกมาตีแผ่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง การวิพากษ์จึงทำให้ข้อมูลที่กำกวมกระจ่างขึ้นและทำให้ได้แนวทางในการคิดเพิ่มเติมในอีกมุมมองหนึ่ง
  9. ถามให้จัดลำดับหรือหมวดหมู่ (Categorizing Question)
  10. ถามให้ขยายความ (Extended Questions) การขยายความคือการเติมเนื้อความที่เป็นประเด็นเดิมให้มีข้อมูลมากยิ่งขึ้น ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความหรือแสดง
  11. ถามให้สรุป (Summarizing Questions) เป็นการหาความคิดรวบยอดและประเด็นที่สำคัญ (Key  Concept)
  12. ถามให้ตีความ (Interpretative Questions) ในบางกรณีการตีความมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น กฎหมายต้องมีการตีความให้เกิดการปฏิบัติได้ร่วมกัน คำถามประเภทนี้มีคำตอบได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ ขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ก็ยังต้องมีข้อมูลมาสนับสนุน มีประโยชน์ในการเริ่มต้นการอภิปรายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิด และเป็นวิธีที่ใช้สำหรับค้นหาความเป็นไปได้ (Inquiry-based project)
  13. คำถามให้ประเมิน (Evaluative Questions) การประเมินเป็นการตีค่าหาเกณฑ์ที่เหมาะสม ลักษณะของคำถามมักจะไม่ จึงเป็นถามความเชื่อหรือความคิดเห็นจากผู้ตอบ จึงไม่มีคำตอบทีผิด แต่คำตอบจะต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เป็นความรู้เดิม หรือประสบการณ์เดิมด้วย จึงเป็นแนวทางในการนำไปสู่การอภิปรายได้ดี คำถามเช่น สถานที่ใดเหมาะสมสำหรับการแคมปิ้ง แต่คำถามประเภทนี้ไม่เหมาะสำหรับ การค้นหาข้อเท็จจริง (Inquiry-based project) เพราะเน้นการสร้างความคิดภายในกลุ่มเท่านั้น (Internally focused) แต่เป็นแนวทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังผู้ตอบที่ไม่ค่อยแสดงออก ด้วยคำถาม เช่น ครูคนโปรดของหนูชื่ออะไร 

 

6. การจัดขอบเขตของคำถาม

การตั้งคำถามสามารถทำได้ด้วย การจัดขอบเขตของคำตอบหรือต้องการการตอบคำถามที่กว้างออกไป  ด้วยคำถามแบบเปิด

การจัดขอบเขตด้วยคำถามแบบปิด

คำถามแบบปิด คือคำถามที่ต้องการคำตอบที่สั้น ๆ อาจเป็นคำเดี่ยว หรือประโยคสั้น ๆ ที่ใช้ความคิดในขั้นให้ข้อมูลพื้นฐาน จะตอบว่า ใช่ /ไม่ใช่ คำถามนี้นำไปสู่การทำให้ไม่คิด หรือหลีกเลี่ยงการคิดที่จะได้คำตอบที่สมบูรณ์ เช่น คุณกินข้าวแล้วหรือยัง คำตอบ คือ ยัง เป็นคำตอบเพียงคำคำเดียว (Monosyllabic answer) คำตอบประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดความรู้เพิ่มเติมจากเดิม

  • เป็นคำถามแบบให้ตอบสั้น

  • เป็นคำถามที่ประหยัดเวลา 

  • เป็นคำถามที่ต้องการรื้อฟื้นความจำในเวลานั้น

  • เป็นคำถามที่เจาะจง

  • เป็นคำถามที่มักมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว

  • เป็นคำถามที่ตอบจากการทำการสังเกต

การจัดขอบเขตของคำถามชนิดปลายเปิด

คำถามแบบเปิด เป็นคำถามที่ให้ผู้ตอบตอบในแนวกว้าง จึงไม่สามารถตอบแบบคำเดี่ยวได้ ผู้ตอบจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดลงไปในคำตอบ

คำถามแบบเปิดเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่มีการวิเคราะห์ การเชื่อมโยงความรู้ และการประเมินหรือวิพากษ์  เป็นคำถามที่นำไปสู่การประยุกต์ คุณลักษณะของคำถามแบบเปิด

  • เป็นคำถามแบบติดตามผล สามารถนำมาใช้กับผู้ตอบที่ไม่สามารถตามการอภิปรายได้

  • เป็นคำถามที่ให้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

  • เป็นคำถามที่ให้บอกจุดเน้น(Focus)

  • เป็นคำถามที่ให้ตรวจสอบข้อมูลความเป็นไปได้

  • เป็นคำถามที่ให้หาความหลากหลายแนวทาง

  • เป็นคำถามที่ให้กระจ่าง

 

7. หลักในการใช้ระดับของความคิดกับคำถามเพื่อการแสวงหา

จากผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่แล้วการตั้งคำถามมักจะต้องการผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบที่แสดงการคิดออกมาตามประเภทของคำถาม 2 ระดับ คือ ระดับสูง และระดับต่ำ

 คำถามระดับพื้นฐาน:

คำถามระดับพื้นฐานคือคำถามที่ใช้การคิดระดับต่ำ Low cognitive questions คือ คำถามที่ถามเพื่อให้ได้ความรู้ความจำที่ได้จากการอ่านหรือการถ่ายทอดมาแม้ว่าจะใช้คำพูดของตนเองก็ตาม เป็นคำถามที่ต้องการข้อเท็จจริง เฉพาะเรื่อง ถามแบบตรงกับข้อมูล ถามสิ่งที่ระลึกได้ ถามความรู้ (fact, closed, direct, recall and knowledge questions) ผลการศึกษาพบว่า ๖๐ เปอร์เซนต์ของการถามคำถามมักเป็นแบบคำถามที่ใช้การคิดในระดับพื้นฐาน คำถามที่ใช้การคิดในระดับพื้นฐานใช้ได้ดีกับเด็กชั้นประถม และโดยเฉพาะเด็กพิเศษ เมื่อต้องการข้อมูลที่ต้องรู้และจำ เด็กโตควรใช้คู่กับคำถามที่ใช้การคิดในระดับสูง ให้มากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ 

คำถามระดับสูง

คำถามระดับสูง คือ คำถามที่ใช้การคิดระดับสูง Higer cogntive questions คือคำถามที่ผู้ตอบต้องใช้สมองจัดการกับข้อมูลที่ได้รับจากการเรียนรู้มาสร้างคำตอบ หรือเพื่อเสริมคำตอบให้เป็นเหตุผลที่แสดงตรรกอย่างเด่นชัด เช่นคำถามประเภทปลายเปิด แปลความ ประเมินความ สืบเสาะความ การอนุมาน การสังเคราะห์ (opened-end, interpretative, evaluative, inquiry, inferential and synthesis questions)

หลักในการใช้คำถามที่ใช้การคิดในระดับสูงเพื่อสร้างปัญญา

ในการตั้งคำถาม ผู้ตั้งคำถามควรจะต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้ตอบว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ไม่เช่นนั้นคำถามนั้นแม้ว่าจะเป็นคำถามที่ดีเพียงใดก็อาจจะไม่ได้คำตอบที่ดีได้ การให้เวลาพักเพื่อให้คิด จากการศึกษาพบว่าถ้าให้เวลาในการเรียนการสอน ถ้าครูให้เวลานักเรียนได้คิดหาคำตอบมากกว่า ๓ วินาทีมี ผลดังนี้ต่อการพัฒนาผลลัพธ์จากการตอบ ดังนี้

  • เพิ่มแนวทางในการตอบ

  • เพิ่มความสำเร็จของการเรียนรู้

  • เพิ่มความคงทนของความรู้

  • เพิ่มจำนวนการตอบที่มีระดับการคิดสูงขึ้น

  • เพิ่มปริมาณการตอบสนอง

  • เพิ่มคุณภาพของการตอบ

  • เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมในการตอบ

  • เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ตอบ

  • เพิ่มจำนวนคำถามกลับจากผู้ตอบ

  • ลดความล้มเหลวในการตอบสนอง

  • ลดการรบกวนจากกลุ่มผู้ตอบ

  • ลดความกลัวในการตอบ

 

 

8. การแสวงหาเพื่อเจริญปัญญา

จุดประสงค์ของการใช้คำถามคือเพื่อหาคำตอบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามที่ต้องการ  และต้องการคำตอบที่เป็นข้อมูลที่แตกต่างกันจากระดับความคิดที่แตกต่างกันด้วย เช่น ต้องการความจริงที่ปรากฏ ต้องการค้นหาเหตุผล ต้องการรายละเอียดของข้อมูล ต้องการรู้วิธีการ ต้องการข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็น ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการใช้คำถามเพื่อเจริญปัญญาจึงมีลักษณะที่ผสมผสานกับวุฒิภาวะของผู้ถามและผู้ตอบที่จะทำให้การถามและตอบมีคุณค่าเพื่อการเจริญปัญญาได้มากน้อยเพียงใด

ฐานความคิดของการตั้งคำถาม

8.1 ฐานคิดแบบโยนิโสมนสิการ

            ในการตอบคำถามต้องใช้ความคิด การตอบที่ใช้ความคิดบนฐานของการคิดในทางที่ดี มีเหตุผล ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีได้ เรียกว่าเป็นการคิดแบบแยบคาย หรือ พระธรรมปิฎก (ปยุต ปยุตโต ผู้นำแบบธรรมะ ธรรมนูญชีวิต 2541) กล่าวว่า เป็นการคิดแบบโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย คือการสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุแยกแยะองค์ประกอบจนเห็นตัวสภาวะ และความสัมพันธ์ของเหตุและปัจจัยหรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่วยังกุศลให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะไม่ให้เกิดอวิชชาและตัณหา (พระเทพเวที พจนานุกรม ฉบับประมวลศัพท์ 2533)

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่น สิ่งที่ทำให้มนุษย์พิเศษคือ สิกขา หรือ การศึกษา คือเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา มนุษย์ที่ฝึกศึกษาหรือพัฒนาแล้ว ชื่อว่าเป็น สัตว์ประเสริฐ เป็นผู้ที่รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง และช่วยให้สังคมดำรงอยู่ในสันติสุข โดยสวัสดี คุณสมบัติข้อหนึ่งทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่เรียกตนเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ การคิดแบบที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งแปลความว่า เป็นความฉลาดคิด แยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็นเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไปในระบบความสัมพันธ์ของเหตุและปัจจัย โดยใช้ปัญญาพิจารณาสอบสวนสืบค้น วิเคราะห์ วิจัย ผู้ที่เจริญแล้วย่อมคิดดีไม่ว่าเพื่อให้เห็นความจริง หรืให้เห็นแง่ด้านที่จะใช้ให้ได้ประโยชน์ กับทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและจัดทำดำเนินการต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยวิธีการแห่งปัญญาที่จะทำให้พึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

            ในการตั้งคำถามบนฐานความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ให้คำนึงถึงหลักการคิด 4 แบบคือ        

  • คิดแบบวิเคราะห์กระบวนการ (อุบายมนสิการ) เพื่อหาแก่นแท้

  • คิดเป็นทาง (ปถมนสิการ) เพื่อให้เป็นไปตามลำดับ

  • คิดแบบสืบสาวหาสาเหตุ (การณมนสการ) คิดหาความสัมพันธ์ของเหตุและผล

  • คิดแบบมุ่งกุศล (อุปปาทกมนสิการ) คิดเพื่อให้เกิดประโยชน์

8.2 ฐานความคิดแบบไคเซน

คำว่า ไคเซนแปลว่า พัฒนาให้ดีขึ้น  ทักษะการสร้างความต่อเนื่องและการหักโค้งคำถาม เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะได้คำตอบที่เป็นข้อมูลเชิงลึกและซับซ้อน เป็นเทคนิคการถามคำถาม

การถามคำถามเพื่อการได้คำตอบที่มีความหมาย

การฝึกตั้งคำถามมีความสำคัญเท่ากับการฝึกให้ตอบคำถามได้อย่างมีความหมาย แล้วทนำคำตอบนั้นไปต่อเนื่องจนเกิดเป็นกระบวนการหรือแนวทางที่นำไปปฏิบัติได้

8.3 ฐานความคิดแบบเดอโบโน

ณ จุดหรือตำแหน่งต่าง ๆ ที่บุคคลยึดครองอยู่ทำให้เกิดการรับรู้และมองที่จุดที่ตนยึดครองนั้น คนจึงคิดแตกต่างกัน การคิดที่สอดคล้อง ณ จุดนั้น ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนกับบทบาทของตนเอง ให้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ต้องกระทำเมื่อสวมหมวกใบนั้น การจัดกิจกรรมให้สมาชิกกลุ่มสวมหมวกสีต่าง ๆ กัน และให้แสดงบทบาทตามที่กำหนดไว้กับสีของหมวก  เช่น ให้เป็นผู้ซักถาม ให้เป็นผู้เขียนจดบันทึก ให้เป็นผู้ตอบคำถาม ให้เป็นผู้สะท้อนความ ให้เป็นผู้วิเคราะห์ และให้เป็นผู้ประเมิน เป็นต้น ระดับการทำงานสมาชิกใช้ความสามารถทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน การที่บุคคลรู้ว่าตนเองสวมบวกใบใดอยู่ก็แสดงว่าจะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาคำตอบในคำถามนั้น ๆ ตามบทบาทและหน้าที่ของตน (ครบเครื่องเรื่องความคิด สุวิทย์ มูลคำ 2547 ดวงกมลสมัย)

หมวก 6 ใบ ได้แก่

  • สีขาว หาข้อเท็จจริง

    • มีข้อเท็จจริงอย่างไร

    • มีข้อมูลเพิ่มเติมไหม

    • หาข้อมูลเพิ่มได้อย่างไร

  • สีแดง แสดงอารมณ์

    • รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้

    • มีความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งนี้

  • สีดำ แสดงความรู้สึกเศร้า ข้อบกพร่อง ข้อเสีย

    • มีจุดด้อยอะไร

    • ข้อมูลถูกต้องไหม

    • คุ้มค่าไหม

  • สีเหลือง ให้คุณค่า

    • มีประโยชน์อะไร

    • จุดเด่นคืออะไร

    • จะเสนอแนะอะไร

    • ทำอย่างไรจึงจะดีขึ้น

  • สีเขียว คิดมองไปข้างหน้า สร้างสรรค์ คิดใหม่

    • พัฒนาอะไร

    • มีอะไรน่าสนใจ

    • จะทำอะไรต่อไป

    • มีทางเลือกใหม่ไหม

  • สีฟ้า หาข้อสรุป

    • จะสรุปอย่างไร

    • ขอบเขตของปัญหาคืออะไร

    • ให้คิดว่าเราต้องทำอะไร

 

9. คุณสมบัติที่ดีของคำถาม

  • สร้างความคิดในทางบวก

  • กระตุ้นการคิด

  • สร้างความร่วมมือ

  • สร้างความเชื่อมโยง

  • ก่อให้เกิดการอภิปราย

  • ความสมดุลระหว่างการกระตุ้นและการตอบสนอง

  • สภาพจริงของคำถาม (The Authenticity of questions)

  • เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสม ที่เป็นไปตามจริง To get Decent Questions

  • คำถามเพื่อการเรียนรู้ที่ดี

            คำถามเป็นเครื่องมือที่มีที่มีการใช้มากที่สุดเพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพถ้านำไปใช้ใได้อย่างเหมาะสม แคลลาฮาน และ คลาร์ค (Callahan and Clarke, 1988) และเป็นเครื่องมือที่มี ประโยชน์มากที่สุดในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน (Kim and Kellough, 1987) ครูจะใช้คำถามเพื่อในชั้นเรียนเพื่อกระตุ้นผู้เรียนให้คิด ทำให้นักเรียนมีความก้าวหน้าด้านการแสวงหาความรู้ คำถามยังได้นำมาใช้เพื่อตรวจสอบตรวจความชัดเจนที่ครูให้แก่นักเรียน เป็นสิ่งจูงใจให้นักเรียนตั้งใจเรียน สามารถควบคุมชั้นเรียนได้ดี ทำให้มีการเน้นย้ำ ข้อมูลที่มีความสำคัญ

            ในการจัดการเรียนรู้โดยการใช้วิธีการสอนแบบการแก้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) จุดศูนย์กลางของการสอนจะต้องใช้คำถามเป็นแกนหลัก (Crunkilton and Krebs, 1982 ; Newcomb, McCracken and Warmbod, 1986) คำถามไม่เพียงแต่ใช้ในการสอนเท่านั้นแต่ยังใช้เมื่อต้องการจะกล่าวถึงปัญหาที่นำมาแก้ไขด้วย

            แนวทางในการที่จะคาดหวังผู้เรียนให้ตอบคำถามได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับระดับของคำที่ใช้ถามคำถามด้วยเช่นการให้ระลึกความ การให้ประมวลความ การให้วิเคราะห์ความ หรือให้ประเมินความ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จของผู้เรียนในการตอบคำถามได้มักที่จะกล่าวว่าเป็นเทคนิคของการตั้งคำถามของผู้สอน

            เมื่อกล่าวถึงการสอนในชั้นเรียนพบว่า ครูส่วนใหญ่จะใช้คำถามเพื่อนำไปสู่การตอบ จากการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้คำถามในชั้นเรียน พบว่า

            ครูส่วนใหญ่จะถามคำถามอยู่ในระดับให้อ่านและพูดตาม ส่วนคำถามที่ท้าทายให้คิดต่อ หรือทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และที่น้อยที่สุด คือ คำถามที่ให้ลองตั้งสมมติฐานให้กับสถานการณ์ใหม่ (Gall, 1970; Mills, Rice, Berliner, and Rousseau, 1980) นอกจากนี้ในการถามคำถามอาจนำไปสู่การทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองโง่ ซึ่งนำไปสู่การไม่อยากเข้าชั้นเรียนอีกต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการดูถูกเหยียดหยามด้วยคำถามจากครู (Bly, 1986)

            ความสำคัญของการตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้

  • คำถามมักใช้เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน

  • เป็นการประเมินผลของการสอน

  • ประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนว่าอยู่ในระดับใด และมีข้ออ่อนด้อยในเรื่องใด

  • นำพาไปสู่ความเข้าใจ

  • เป็นการฝึกผู้เรียนในระดับความยากง่ายที่แตกต่าง

  • ปรับปรุงการสอน

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนได้พูดแบบสร้างสรรค์และให้จดจ่อกับงาน

  • เป็นสัญญาณของความสนใจว่าผู้เรียนรู้สึกและคิดอย่างไร

  • กระตุ้นความสนใจและปลุกสมองให้คิด

  • กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหาที่นำไปสู่การคิดและการเรียนรู้

  • ช่วยให้ผู้เรียนมีการฝึกหัดกระทำและแสดงออกด้านความรู้

  • กระตุ้นให้คิดออกมาและอธิบายได้

  • ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกียรติ และประมินในสิ่งที่ไดรับจากเพื่อน

  • นำให้ผู้เรียนหยั่งคิดให้ลึกซึ้งและสามารถสรุปรวมออกมาเป็นความคิดรวบยอด

ทักษะการตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้

คนส่วนใหญ่คิดว่าคำถามเป็นการขอคำตอบอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนน่าจะตอบได้ถูกต้อง  ไม่มีสิ่งใดที่หนีไปจากความเป็นจริง  ข้อเสนอแนะไปนี้เป็นประโยชน์ต่อการตั้งคำถามที่ดี

  1. เมื่อตั้งคำถามควรแน่ใจว่ามีความชัดเจน คิดให้แน่ใจว่าต้องการคำตอบอะไรจากผู้ตอบก่อนทีถามคำถามนั้น
  2. การวางกรอบให้อยู่ในความสนใจของผู้ตอบ เพื่อที่กระตุ้นให้ได้คำตอบ
  3. เมื่อถามเสร็จแล้วควรมีเวลาให้ผู้ตอบได้คิดก่อนตอบ การสร้าง

การถาม (ใช้คำถามและความต่อเนื่องจากคำถาม)

การถามให้คำถึงความครอบคลุม

การถามให้ใช้ทักษะกระจายคำตอบ เป็นทักษะในการเปลี่ยนผู้ตอบ

ข้อควรระวังในการใช้คำถาม

  • ต้องไม่ก่อให้เกิดความสับสน

  • ต้องไม่นำไปสู่การขัดแย้ง

  • ต้องให้อยู่ในบริบท

  • ต้องให้ได้คำตอบแบบก้าวหน้า

  • ต้องให้ได้คำตอบที่นำไปสู่การปฏิบัติได้

  • ต้องตรงประเด็น

  • ต้องไม่วกวน 

สรุป

            การใช้คำถามเพื่อการเจริญปัญญาเป็นการกระตุ้นสัญชาตญาณของความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ในทางที่จะทำให้เกิดความคิดต่อเนื่องในทางที่สร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้เจริญงอกงาม การฝึกทักษะในการตั้งคำถามจะนำไปสู่แนวคำตอบที่เป็นประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมที่ 1

คำถามสร้างขึ้นเพื่อแสวงหาคำตอบที่หลากหลาย ความแตกต่างของคำตอบจึงเป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับคำถามนั้น

การที่บุคคลจะสามารถตั้งคำถามที่สามารถได้คำตอบที่คาดหวังสมความต้องการนั้นจึงเป็นศิลปะและเทคนิคที่ต้องการการฝึกหัดให้สามารถตั้งคำถามเพื่อการเจริญปัญญาได้ดี

ให้ตอบคำถามต่อไปนี้ทุกข้อ

ข้อที่ 1 ประชาชนต้องทำอะไรบ้างถ้าเกิดวิกฤติการณ์ด้านน้ำมัน

ข้อที่ 2 เมื่อไหร่ประชาชนจึงต้องประหยัดน้ำมัน

ข้อที่ 3 ทำไมประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำมัน

ข้อที่ 4 เมื่อวิกฤติการณ์น้ำมันเกิดขึ้น ใครบ้างจะต้องประหยัดน้ำมัน

ข้อที่ 5 ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำมันอย่างไร

 ข้อที่ 6 การดับไฟฟ้าเมื่อไม่ต้องการใช้เป็นการประหยัดน้ำมันได้หรือไม่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ข้อที่ 7 ประชาชนควรจะประหยัดน้ำมันมากน้อยเพียงใด

ข้อที่ 8 ท่านไม่รู้หรือว่าเขากำลังให้ประหยัดน้ำมัน

ข้อที่ 9 ท่านคิดว่าคนไม่ประหยัดน้ำมันเป็นคนเลวไหม

ข้อที่ 10 ท่านเชื่อหรือไม่ว่าคนประหยัดน้ำมันเป็นคนดี

จากคำถามเหล่านี้ สามารถนำไปใช้เพื่อการวิเคราะห์หรืออธิบายบริบทของการใช้คำถามได้ แม้คำถามและคำตอบจะเป็นเพียงภาษาสื่อสารแต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่ในภาษานั้นสามารถตีความและกระตุ้นความรู้สึกระหว่างกันได้ ให้ท่านวิเคราะห์คำถามแต่ละข้อและให้ใช้เหตุผล

ให้วิเคราะห์คำตอบว่าต้องใช้ความคิดในระดับใดตามระดับขั้นของบลูม

 

กิจกรรมที่ 2

ผู้เรียนอ่านนิทานต่อไปนี้ และให้ตั้งคำถามจากข้อมูลเชิงประจักษ์

อะไรที่ไม่ชัดเจนและตอบไม่ได้

ข้อมูลประเภทนี้ต้องการแนวคิดประเภทใดจึงจะตอบได้

ถ้าต้องการตอบอย่างน่าเชื่อถือจะใช้การคิดประเภทใด

 

กิจกรรมที่ 3

อุปกรณ์

หมวก สีขาว แดง ดำ เขียว  เหลือง ฟ้า

เอกสารใบงาน

วิธีดำเนินกิจกรรม

แบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 6 คน ให้แต่ละคนจับฉลากเลือกหมวกที่ต้องสวมใส่ เมื่อได้หมวกที่ต้องการแล้ว ให้ใส่เพื่อรับรู้อยู่ตลอดเวลา

ให้กลุ่มอ่านเอกสารที่จัดมาให้ ให้แต่ละคนตั้งคำถามตามบทบาทและหน้าที่ตามสีของหมวกที่ตนจับฉลากได้

ให้จดคำถามเอาไว้เพื่อนำมาวิเคราะห์

 

เอกสารอ้างอิง

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต, 2541) ผู้นำแบบธรรมะ ธรรมนูญชีวิต. กรุงเทพมหานคร สถาบันราชภัฏสวนสุนัทา.

Barell, J. (2003) Questioning Texts. http://www.ascd.org/publications/books/2003barell/chapter6.html 3/18/2004.

Camp, W. (2004) Questioning Skills. Verginia Polytechnic Institute and State University :                  http://rrr.aee.vt.edu/methods/que-skil.htm  3/18/20004

Cotton, K. (2004) Classroom Questioning. Regional Education Laboratory : http://wwwnwrel.org/scpd/sirs/3/cu5.html  3/18/2004.

Jefferson Country Schools. (2001) Questioning Techniques. Colorado : Visual Art.

http://www.aee.vt.edu/methods/que-skill.html http://youthlearn.org  3/18/2004

http://www.youthlearn.org/learning/teaching/questions.asp3/18/2004

http://www.exploratorium.edu/IFI/resources/workshops/artofquestioning.html

3/18/2004

http://www.thinkexist.com/English/Topic/x/Topic_287_1.htm 3/18/2004

http:www.csu.edu/TQE/EQE3Modules/KhanWebPage 3/18/2004

Callahan, J.F. and Clarke, L. H. (1988). Teaching in the Middle and Secondary Schools, 3rd Ed. New York: Macmillan Pblishing Company.

Kim, E.C. and Kellough, R.C. (1987). A Resource Guide for Secondary School Teaching, 3rd Ed. New York: Macmillan Publishing Company.

Crunkilton, J.R. and Krebs, A.H. (1982). Teaching Agriculture through problem-solving. Danville, IL: The Interstate Printers and Publishers.

Newcomb, L.H.,McCracken, J. D., and Warmbod, J.R. (1986). Methods of Teaching Agruculture. Danville, IL: The Interstate Printers and Publishers.

Bloom et. al. (1956) http://ss.uno.edu/ss/teacherdevel/Questions/Questionbloom.html

McKenzie, Jamie. (2004) A Guestioning Toolkit. http://www.fno.org/nov97/toolkit.html (6/24/2004)

Wolf, D. P. (1987). The Art of Questioning. Academic, Connecticut; Winter 1987, 1-7.

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com