ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







การศึกษาวิชาปัญหาพิเศษ

คำนำ

 

วิชา ปัญหาพิเศษ เป็นวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสจำลองรูปแบบการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ในการทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัย การทำงานเป็นทีม รวมไปถึงการฝึกการทำงานที่มีหลักการและเหตุผลและพัฒนาบุคลิกภาพของผู้นำในการตัดสินใจ การสังเกตและการคิดวิเคราะห์ เป็นการนำปัญหามาสู่การค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาปัญหาพิเศษ คือ การนำปัญหามาสู่กระบวนการวิจัย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ทำความเข้าใจกับวิธีการการศึกษา/วิจัย โดยให้แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยในประเด็นที่สำคัญ จึงได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน 8 หน่วย ดังนี้

 

ตอนที่ 1  บทนำ

หน่วยที่ 1 ความสำคัญของการศึกษา/วิจัยธุรกิจ

หน่วยที่ 2 บทบาทและขอบเขตการศึกษา/วิจัยธุรกิจ   

 

ตอนที่ 2 เนื้อหาสาระ

หน่วยที่ 3 การกำหนดประเด็นเพื่อการศึกษา/วิจัย

หน่วยที่ 4 การเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัย

หน่วยที่ 5 ความสำคัญและสาระของบทในการศึกษา/วิจัย

หน่วยที่ 6 การอ้างอิงข้อมูลและบรรณานุกรม

 

ตอนที่ 3 รูปแบบรายงาน

หน่วยที่ 7 การจัดวางรูปเล่มรายงาน

หน่วยที่ 8 การลำดับเอกสารในเล่มรายงาน

          บรรณานุกรม

          ภาคผนวก

 

ตอนที่ 1 บทนำ

 

หน่วยที่ 1 ความสำคัญของการศึกษา/วิจัยธุรกิจ

การศึกษา/วิจัยมีความสำคัญต่อธุรกิจ เนื่องจากจะพบว่าการศึกษา/วิจัยจะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน หรือคาดไม่ถึงได้ นอกจากนี้การวิจัยยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งในการวิจัยทางธุรกิจนี้ จะเป็นสิ่งที่ได้รับการค้นคิดหรือค้นพบจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้าสู่ระบบการบริหารและการนำมาดำเนินทางธุรกิจ  เช่น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบตัวยาที่นำมารักษาโรคชนิดหนื่งได้เป็นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์  แต่การจะนำสู่ธุรกิจได้ก็จะต้องมีกระบวนการและวิธีการตัดสินใจเชิงธุรกิจที่จะทำให้ผลงานวิจัยนั้นเข้าสู่ตลาดและถึงมือผู้บริโภคได้ การศึกษา/วิจัยด้านธุรกิจก็จะเข้ามามีบทบาทที่ทำให้การดำเนินการด้านธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงแต่การวางรากฐานเท่านั้นที่จะทำให้งานธุรกิจดำเนินไปได้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาศึกษาก็คือ กระบวนการทางด้านอุตสาหกรรมและการจัดการทรัพยากรในการผลิต การจัดการทรัพยากรมนุษย์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการดำเนินการด้านธุรกิจทั้งสิ้น การศึกษาวิจัยในด้านธุรกิจอุตสาหกรรมจึงเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในปัจจุบันเพื่อให้ผู้บริหารได้มีเครื่องมือในการตัดสินใจบนฐานของความสำเร็จ

            1.1  การศึกษา/วิจัยเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์การประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นหน้าที่หนึ่งของหน่วยงานทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตขององค์การ คือการมีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีทีมงานที่มีพลังแข็งแกร่ง ผู้บริหารจึงได้พยายามสร้างสิ่งที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันมีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (สถาบันเพิ่มผลผลิต, 2545) ผู้บริหารมักจะต้องนำมาหารือและปรึกษาถึงการที่จะดำเนินการให้บุคลากรขององค์การมีศักยภาพให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกระบวนการการผลิตและในด้านการบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ โดยมีส่วนที่จะไปกำหนดช่วงเวลาในการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างพลังในการเพิ่มหรือพัฒนาผลผลิตรวมทั้งการดูแลเอาใจใส่ต่อการดำเนินการของธุรกิจ  เพื่อให้พร้อมรับมือกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ บทบาทและหน้าที่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลจึงต้องขยายวงกว้างออกมาสู่การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางกลยุทธธุรกิจและการตัดสินใจทางธุรกิจร่วมด้วย สมรรถนะในงานทรัพยากรมนุษย์จึงต้องรวมไปถึง ความรู้ในด้านธุรกิจ การเป็นผู้นำและการสอนงาน การวางกลยุธ การให้การปรึกษาแนะนำ  การนำการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาองค์การเพื่อการพัฒนาธุรกิจไปพร้อม ๆ กันกับการวางแผนด้านทรัพยากรบุคคล

             1.2  หลักแนวคิดในการพัฒนาองค์การโดยองค์รวม คือการจัดการกับปัญหาซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการขจัดปัญหา หรือการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้แนวความคิดใหม่ ที่สร้างสรรค์งานเพื่อการแข่งขัน พร้อม กับแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของนวตกรรมการผลิต หรือนวตกรรมพัฒนาต่อยอดผลผลิต เป็นต้น  การศึกษาวิจัยเป็นแนวทางที่จะทำให้บุคคลมีข้อมูลยืนยันเพื่อการตัดสินใจ เพื่อให้ลดอัตราความเสี่ยงในการลงทุน เป็นต้น ดังเช่นในกรณีของ  เซเว่น- อีเลเว่น (7-Eleven)ข้อมูลส่วนหนึ่งจะได้จากข้อมูลที่ผู้บริหารติดตามมาจากผลการวิจัยย่อยของหน่วยวิจัย ฝ่ายการตลาด โดยในการตัดสินใจเลือกทำเลในการตั้งร้านสาขาใหม่ทุกครั้ง จะมีหน่วยการวิจัย ฝ่ายการตลาดออกไปทำการสำรวจความต้องการของผู้บรโภคและความเป็นไปได้ในการเปิดสาขาใหม่ และเสนอผลงานวิจัยให้ผู้บริหารพิจารณาประกอบการตัดสิน โดยมีการตัดสินใจที่รอบคอบให้ความสำคัญนการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ลดความเสี่ยงในการตัดสินใจผิดพลาด นอกจากนี้ยังมีการทำการวิจัยเปรียบเทียบแบบ เปรียบมวย (Benchmarking) ซึ่งเป็นการปรียบเทียบกับองค์การที่มีแนวปฏิบัติที่ดีและประสบความสำเร็จที่สูงกว่า (สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. 2545)

            1.3  การศึกษา/วิจัยเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์การในวงกว้าง ซึ่งนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องทำหน้าที่คล้ายคลึงกับผู้จัดการด้านธุรกิจ โดยต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทำอย่างไรองค์การจึงจะสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้ จำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลที่สำคัญทางธุรกิจและสกัดข้อมูลจากรายงานด้านการเงินได้  ต้องตระหนักถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  ซึ่งรวมทั้งในด้านโครงสร้าง  เครื่องมือ และคน และที่สำคัญ คือการเข้าใจการเชื่อมโยงคุณค่าขององค์การเพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผฃิตภัณฑ์และการบริการได้

            ในการศึกษา/วิจัยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การรับรู้ของพนักงานเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แมคลิน (McLean, cited in Swanson and Holton, 1997) เสนอแนะแนวทางในการศึกษา/วิจัยด้านต่าง ๆ ไว้ เช่น พันธกิจและเป้าหมายขององค์การ ภาวะผู้นำในการบริหารธุรกิจ หรือ หน่วยงาน ประสิทธิภาพของหัวหน้างาน สภาพการทำงาน การเพิ่มผลผลิต การไว้วางใจและรับผิดชอบ การสื่อสาร ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างหน่วยงาน  ความพอใจในงาน การได้รับค่าทดแทน ความก้าวหน้าในงาน เป็นต้น ในองค์การใหญ่มักจะพบปัญหาความขัดแย้งในการทำงานที่เกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันหรือการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดอันเกิดจากการได้รับข้อมูลไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่อง์การอย่างมหาศาล ดังนั้นการสื่อสารภายในองค์การก็เป็นปัจจัยท่สนับสนุนความสำเร็จขององค์การปัจจัยหนึ่ง

            1.4  การศึกษา/วิจัยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการประเมิน/ติดตามตรวจสอบการทำงาน  เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานมีมาตรฐานตามที่องค์การได้กำหนดตัวชี้วัดไว้  เพื่อหาแนวทางในการจัดระบบสนับสนุนคุณภาพในการดำเนินการให้เหมาะสม เช่น ในกรณีของบริษัทสหฟาร์ม จำกัด การจัดอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการชำแหละให้เป็นชิ้นไก่ให้ได้มาตรฐานก็เป็นระบการจัดการที่จะต้องทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในด้านการจัดวางอุปกรณ์ ช่องว่างระหว่างบุคคลกับอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น 
หน่วยที่
 2 บทบาทและขอบเขตการศึกษา/วิจัยธุรกิจ   

          การวิจัย คือ การค้นหาความจริงหรือความรู้ใหม่โดยใช้วิธีการที่เป็นระบบ เชื่อถือได้ เช่น วิธีการทางวิทยาศาสตร์  ที่นำมาซึ่งความก้าวหน้าในเชิงวิชาการแพทย์ การเกษตร หรือในลักษณะของพัฒนาการผลิต เป็นต้น ปัจจุบันการศึกษา/วิจัยทางศิลปศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทในด้านบริหารจัดการและการดำเนินการทางธุรกิจ เนื่องจากการศึกษา/วิจัยนั้นสิ่งที่สำคัญในยุคที่ต้องใช้ความรู้และทักษะในการแข่งขันเนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การได้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำจึงนำไปสู่ภาวะความเสี่ยง ผู้ที่มีความสามารถในการแสวงหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่สามารถคงอยู่ในโลกของการแข่งขันได้ การศึกษา/วิจัยธุรกิจ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อาจกับข้อมูลที้ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

                  2.1  ขอบข่ายการศึกษา/วิจัยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มักจะกระทำในบริบทด้านต่าง ๆ ดังนี้

              2.1.1  ด้านประเด็นจุดเน้น (Focus) ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีทิศทางที่จะเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์การ เช่น การศึกษาการวิเคราะห์และการประเมินความต้องการ (Need Analysis and Need Assessment) และกระบวนการศึกษาที่จะช่วยในการจัดอันดับความต้องการก่อนหลัง

                          2.1.2  ด้านการให้ประสบการณ์เรียนรู้ (Learn) ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานโดยการใช้วิธีการศึกษา/วิจัยในกระบวนการเรียนรู้ เช่น การประเมิน 360 องศา การทดลองเชิงวิเคราะห์ และการวิจัยเชิงปฎิบัติการ การจัดการความรู้ขององค์การ

                            2.1.3  ด้านการประยุกต์ใช้งานได้ (Apply) ส่งเสริมการถ่ายโยงการเรียนรู้ในสถานที่ทำงานด้วยกระบวนการวิจัย เช่น การนำผลวิจัยติดตามผลมาประยุกต์ใช้เพื่อการเยียวยาแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์

                            2.1.4  ด้านการพิสูจน์ (Prove) เป็นการพิจารณาผลกระทบของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านการปฏิบัติงานในองค์การและส่วนบุคคลการศึกษา/วิจัยประเมินผล ผลที่ได้รับจากการลงทุนและการศึกษาอื่น ๆ ที่เป็นผลทำให้องค์การประสบความสำเร็จในด้านการเงิน

            2.2 คุณลักษณะของการศึกษา/วิจัยธุรกิจ ต้องมีคุณลักษณะที่ดีและเป็นประโยน์ต่อองค์การที่เสมอกันกับความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน ข้อพิจารณา คือ การศึกษา/วิจัยที่ผลของการศึกษาจะช่วยให้องค์การทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดความเสื่อมในการทำธุรกิจและไปขัดขวางการเคลื่อนไหลในการปฏิบัติงานของบุคลากร รวมทั้งให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจขององค์การ การศึกษา/วิจัยต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้

                 2.2.1 การศึกษา/วิจัยที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

                 2.2.2  การศึกษา/วิจัยที่สร้างสรรค์โซ่มูลค่า

                 2.2.3  การศึกษา/วิจัยที่มีกรอบเวลาไม่ยาวนาน

                 2.2.4  การศึกษา/วิจัยที่มีความแม่นยำ

            2.3 รูปแบบและวิธีการศึกษา/วิจัย ทำได้หลายวิธี รูปแบบมีแบบระยะยาว และระยะสั้น ใช้การศึกษาเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ การได้ข้อมูลด้วย การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) การวิจัยสนาม (Field Research) การศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นต้น การที่จะเลือกรูปแบบและวิธีใดต้องขึ้นอยู่กับบริบทที่เหมาะสมที่ต้องให้ผลของการศึกษา สำหรับการวิจัยทางธุรกิจนั้น มักจะใช้การศึกษาเชิงสำรวจเป็นหลัก 

2.5  ระเบียบวิธีการรายงานการศึกษา/วิจัย ในส่วนของการรายงานนั้น การรายงานการศึกษา/วิจัยถือเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางวิชาการ ดังนั้นจึงมีระเบียบวิธีการที่ค่อนข้างจะเป็นหลักการให้ถือปฏิบัติ เช่น การเขียนรายงานต้องเขียนเป็นเชิงวิชาการโดยใช้ภาษาเขียนที่สุภาพ มีความสละสลวยเหมาะสมกับงานวิชาการ จึงมีการตรวจสอบการใช้ภาษาและการเรียบเรียงภาษาให้เป็นไปในเชิงวิชาการอย่างเคร่งครัด 

ส่วนต่าง ๆ ของการรายงานการศึกษา/วิจัย แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ทั้งสองส่วนนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เนื่องจากมีการกำหนดระเบียบวิธีในการเขียนทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระและส่วนที่เป็นรูปแบบด้วย

ส่วนที่ 1 คือ ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ และส่วนที่เป็น รูปแบบรายงาน ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ ได้แก่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับทฤษฎีแนวคิด และหลักการ รวมทั้งข้อความอื่นใดที่เป็นเนื้อหาสาระทางวิชาการที่นำมาเขียนไว้ เพื่อการอ้างอิงทางวิชาการ การเขียนแบบเล่นสำนวน คำแสลงหรือใช้ภาษาพูดทำให้งานวิชาการจะเป็นการลดคุณค่าทางวิชาการลง นอกจากนี้การใช้คำศัพท์ในการเขียนรายงานยังต้องการความคงที่ สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้อ่านรายงานเกิดความไขว้เขว ดังนั้นผู้ทำการศึกษาจะต้องตัดสินใจและยึดคำศัพท์ที่ใช้ในรายงานให้เหมือนกันตลอดทั้งเล่ม

ส่วนที่ 2 คือ ส่วนที่เป็นรูปแบบ ได้แก่ การเขียนหัวข้อหลักหัวข้อย่อย การใส่หมายเลขหัวข้อ การเว้นวรรค การเว้นบรรทัด การกั้นหน้าหลัง การเขียนภาพเขียนตาราง และการอ้างอิง เป็นต้น ส่วนนี้มักจะเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละสำนักวิจัยซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ศึกษา/วิจัยจะต้องศึกษาและเข้าสู่กระบวนการเขียนรายงานตามรูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้ทำการศึกษา/วิจัยจะต้องตรวจสอบให้มีความถูกต้องและมีความเหมาะสมในเชิงวิชาการด้วยเช่นกัน

   

ตอนที่ 2 เนื้อหาสาระ

 

หน่วยที่ 3 การกำหนดประเด็นเพื่อการศึกษา/วิจัย

            3.แนวคิดในหัวข้อและประเด็นเพื่อการศึกษา/วิจัย

กระบวนการการศึกษา/วิจัยในเรื่องใด ๆ จะเริ่มต้น เมื่อ เริ่มมีความรู้สึกว่ามีปัญหา หรือเกิดเป็นข้อสงสัย หรือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ การศึกษา/วิจัยเพื่อให้ได้คำตอบและทำให้ข้อสงสัยนั้นเกิดความกระจ่าง ความสนใจหรือต้องการที่จะหาคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา/วิจัย และอาจกล่าวได้ว่าการศึกษา/วิจัยเป็นแนวคิดอิสระของบุคคลที่มีประสบการณ์และภูมิหลังที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะศึกษานั้นเป็นหลัก เช่น ในงานธุรกิจอุตสาหกรรม อาจเกิดจากปัญหาที่ได้จากข้อร้องเรียนจากลูกค้า เช่น ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบริการหลังการขาย ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการส่งสินค้า หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพ เป็นต้น ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาทรัพยากรของบริษัทหรือสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อม เพื่อการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้การรู้เท่าทันวิกฤตการณ์ต่าง ๆ หรือการปรับตัวของธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้การศึกษาวิจัยเป็นตัวนำที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การมีสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการศึกษาเพื่อการแก้ไข หรือศึกษาเพื่อการวางกลยุทธใหม่เพื่อการป้องกันหรือเพื่อการเพิ่มศักยภาพในด้านที่เกี่ยวข้อง  ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะลงมือแก้ไขปัญหาโดยนำความคิดของตนที่เป็นสามัญสำนึกมาทำการแก้ไขโดยไม่มีหลักฐานข้อมูลยืนยันว่าเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาที่ตรงจุด การแก้ปัญหาจึงเป็นเสมือนตาบอดคลำช้าง เป็นการคาดเดาที่ใช้ความรู้สึก ดังนั้นการนำการคาดเดานี้มาทำการศึกษาก็จะได้รับรู้ว่าสิ่งที่คาดเดาไว้นั้นเป็นความจริง การแก้ไขปัญหาก็จะตรงประเด็น 

3.2  แหล่งที่มาของหัวข้อการศึกษา/วิจัย

            หัวข้อในการศึกษา/วิจัย ที่เป็นปัญหาพิเศษ คือ หัวข้อที่เป็นปัญหาและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการจะแก้ไขปัญหา ถ้าเปรียบเทียบว่า ปาก คือ องค์การ ฟันในปากทุกซี่ คือหน่วยงานในองค์การ ฟันซี่ไหนมีปัญหา ก็จำเป็นจะต้องแก้ไข และต้องแก้ไขให้ตรงจุด ตรงกับอาการ แต่ก่อนที่จะแก้ไขก็ต้องตรวจดูอาการเสียก่อน ที่จะทำการรักษาใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาของฟันซี่นั้น เพื่อเป็นการตัดสินใจว่าควรจะทำการอุดฟัน หรือ รักษารากฟัน หรือจำเป็นต้องถอนฟันทิ้งไป การตรวจดูอาการ คือ การศึกษา/วิจัย และการที่จะตรวจรักษาฟันซี่ใดก่อนก็ต้องแล้วแต่ความจำเป็นเร่งด่วน เช่น ระหว่างฟันกรามกับฟันซี่หน้า ซี่ไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน เป็นต้น หัวข้อปัญหาที่จะศึกษาจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ทำการศึกษาหรือหน่วยงานที่ต้องการข้อมูล ดังนั้นแหล่งที่มาของการได้มาซึ่งหัวข้อในการศึกษา/วิจัย อาจได้แก่

       3.2.1   ตัวบุคคล  บุคคลผู้ทำการศึกษามีความสนใจหรืออยากรู้ในประเด็นที่เป็นปัญหา หรือรู้สึกสะดุดใจกับเหตุการณ์บางเหตุการณ์เป็นพิเศษ และนำมาตั้งเป็นข้อสังเกต และกำหนดเป็นหัวข้อปัญหาเพื่อทำการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่สนใจกับปัญหาประเภทนี้มักจะมีพื้นฐานความรู้เดิม หรือเคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการจะศึกษา เช่น บุคคลที่อยู่ในวงการ ชกมวย ก็อาจจะอยากรู้ว่า วิธีการบริหารจัดการค่ายมวยที่มีประสิทธิภาพ หรือการที่จะทำให้นักมวยมีชื่อเสียงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง หรือ สำหรับผู้ที่ต้องสนใจเรื่องของการอบรมเลี้ยงดูเด็กในวัยที่น่าสนใจในยุคข้อมูลข่าวสารก็อาจจะศึกษาวิเคราะห์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่นยุคไฮเทค เป็นต้น

3.2.2  หน่วยงาน สถานที่ทำงาน หรือ องค์การเป็นแหล่งที่มักเกิดปัญหา ทั้งในด้านการบริหารคน และบริหารงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดขององค์การ  ในการศึกษาอาจเริ่มจากปัญหาที่ต้องนำมาเพื่อแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อมีการปรับเปลี่ยนการทำงานและระบบการทำงานราชการ การเปลี่ยนแปลงย่อมก่อให้เกิดความเครียด ดังนั้น การศึกษาภาวะความเครียดของพนักงานเมื่อมีการปรับเปลี่ยนองค์การ ก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องศึกษา ที่ปรากฏว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น พนักงานเริ่มมีความขัดแย้งกันมากขึ้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น เช่น มีอารมณ์ไม่รุนแรงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น หรือมีการลาออกงาน  หรือศึกษาความต้องการด้านสวัสดิการของพนักงานที่เป็นแรงงานภายนอก ปัจจัยที่ทำให้พนักงานทุ่มเทกำลังกายและใจให้แก่งาน        นอกจากนี้ปัจจัยทางธุรกิจ เช่น  มีข้อร้องเรียนจากลูกค้าเรื่องเดิม ๆ ซ้ำกัน บริษัทเริ่มมีคู่แข่งที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่า ยอดขายตกต่ำ ก็เป็นหัวข้อปัญหาที่นำมาสู่การศึกษาได้

3.3 การกำหนดปัญหาเพื่อการศึกษา/วิจัย

            การกำหนดปัญหามีความสำคัญมากกว่าการแก้ปัญหา เพราะต้องกำหนดปัญหาให้ได้ก่อนจึงจะเห็นทิศทางว่าจะทำอะไรกับปัญหานั้น การมองเห็นปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมต้องอาศัยมโนภาพในเชิงสร้างสรรค์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าในด้านองค์ความรู้  และสิ่งที่สำคัญความเข้าใจข้อปัญหาจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำการศึกษา/วิจัย

หลักการในการกำหนดเรื่องที่จะทำการศึกษา คือ การที่ผู้ทำการศึกษาต้องสามารถระบุให้ได้ว่าอะไร คือ ปัญหา การที่จะทำความเข้าใจว่าอะไร คือ ปัญหานั้น ได้มาจากการมองเห็นสถานการณ์ที่ปรากฏ เช่น ในปัจจุบันพบว่า การทำงานเกือบทุกประเภทล้วนต้องการทักษะด้านคอมพิวเตอร์ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้สนใจศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้หรือมีความรู้สึกว่า พนักงานต่อต้านการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น  หัวข้อที่ต้องการทำงานการศึกษา คือ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้บุคคลหันมาสนใจเรียนรู้และฝึกทักษะด้านคอมพิวเตอร์เพื่อการใช้งาน หรือปัจจัยใดที่ทำให้พนักงานต่อต้านการใช้เทคโนโลยี หรือ ปัญหาที่พบว่าข้าวพันธ์สุมาลีซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ที่มีสารอาหารสูงกว่าพันธุ์ข้าวชนิดอื่น ๆ  แต่กลับไม่ค่อยมีวางขายในท้องตลาด ทำให้คิดต่อไปได้ว่าข้าวพันธุ์นี้อาจะสูญหายไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้ข้าวพันธุ์นี้ไม่สูญหายไป จากการสำรวจพบว่าชาวนาไม่นิยมปลูก ซึ่งก็ต้องศึกษาว่าทำไม ชาวนาถึงไม่นิยมปลูก และเมื่อได้คำตอบว่า ไม่นิยมปลูกเพราะไม่เป็นที่นิยมของของผู้บริโภค ปัญหาที่จะต้องนำมาวิจัยเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดของผู้วิจัยว่าต้องการอะไร เพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการตั้งหัวข้อศึกษาค้นคว้า

การกำหนดหัวข้อมีความสำคัญในการนำไปใช้ในการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะหากไม่กำหนดให้ชัดเจนแล้ว อาจมีการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างไร้ขอบเขต กว้างขวางเกินความจำเป็น หรือแคบเกินไปอันจะทำให้การรายงานผลการศึกษา วิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยมีจำนวนหน้าที่หนาเกินความจำเป็นหรือวรรณกรรมที่ทบทวน

ไม่ครอบคลุมเรื่องที่ศึกษา ทำให้วรรณกรรมหรืองานวิจัยที่ทบทวนนั้นไม่ตรงประเด็น ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ (วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, 2551)

การเลือกหัวข้อที่จะนำมาศึกษาผู้ทำการศึกษาควรที่จะคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษานั้นเป็นหลัก   ถ้ามีหลายประเด็นปัญหาที่น่าศึกษา ผู้ทำศึกษาต้องนำมาลำดับความสำคัญ และมีประโยชน์ และตัดสินใจว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ควรจัดการเป็นอันดับแรก  แนวคิดในการเลือกหัวข้อมีมากมายขึ้นอยู่กับการมองเห็นภาพในใจของผู้ทำการศึกษาและความคิดสร้างสรรค์ในการกำหนดเรื่อง สิ่งเหล่านี้ต้องการทักษะและความรู้ในการที่จะเลือกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ อยากแก้ อยากแก้ปัญหา เพราะสังเกตและรู้สึกได้ อยากลอง เพราะอยากรู้ อยากเห็น  อยากแสวงหาข้อเท็จจริงเพราะอยากทดสอบทฤษฎี เป็นต้น

ตัวอย่างปัญหา

            ทำไมปริมาณการขายจึงไม่เพิ่มขึ้นตามที่พยากรณ์ไว้

            ทำไมพนักงานจึงสร้างผลงานไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมาสายของพนักงาน

ทำอย่างไรจึงจะทำให้พนักงานตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

ทำอย่างไรพนักงานจึงจะไม่มาทำงานสาย

            ทำอย่างไรพนักงานจึงจะจงรักภักดีต่อองค์กร

3.4    เกณฑ์การตัดสินใจเลือกหัวข้อการศึกษา/วิจัย 

เกณฑ์ในการศึกษา/วิจัย เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ศึกษา/วิจัยได้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการทำการสึกษา โดยอาจพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมภายในองค์การ เช่น หน่วยงานที่ทำอยู่ ปัจจุบันมีภารกิจหลักอะไร  ภารกิจที่ทำได้ดีอยู่แล้วมากน้อยเพียงใด ภารกิจอะไรที่ยังทำได้ไม่ดีพอ ภารกิจใดที่สามารถนำมาศึกษาได้เพื่อให้มีความก้าวหน้าหรือเป็นการต่อยอดธุรกิจได้ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความรู้ (Right   Knowledge) ด้านบุคคล (Right   People) และด้านเวลา (Right   Time)

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (254230) นำเสนอเกณฑ์การตัดสินใจเลือกหัวข้อการศึกษา/วิจัยเพื่อการพิจารณา ดังนี้  

3.4.1        ความสำคัญของปัญหา

ความสำคัญของปัญหา เป็นตัวพิจารณาที่จะทำให้เกิดความต้องการที่จะวิจัย ดังนั้นปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาพิจารณาว่าปัญหานั้นสำคัญหรือไม่ นั้น อาจได้แก่ปัจจัยดังต่อไปนี้

1) พิจารณาปัจจัยปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อบุคคลและองค์การในระยะยาว

2) พิจารณาปัจจัยปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ และมีความถี่มาก

3) พิจารณาปัจจัยความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดปัญหา 

3.4.2        ความเป็นไปได้

อุปสรรค ขวากหนามต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นจนทำไมห้งานวิจัยไม่สามารถจะดำเนินไปได้  เช่น เป็นความลับของทางราชการ ที่ถ้านำมาเผยแพร่อาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง หรือข้อมูลที่ไม่ได้เกิดประโยชน์และไม่สมควรนำมาเผยแพร่ เป็นต้น

นอกเหนือไปจากนั้น การทำการศึกษาต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่อาจขัดขวางให้การทำการศึกษาไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เช่น

1)          ด้านจริยธรรมทางสังคม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นจรรยาบรรณของนักวิจัย เช่น การการศึกษาที่เป็นภัยคุกคามชีวิตของบุคคล อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  การศึกษาเช่นนี้ ผิดหลักจริยธรรม เช่น การศึกษาฤทธิ์ของสาร ......ที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยการเพิ่มระดับความเข้มของการลงโทษ เป็นต้น

2)          ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการศึกษา การศึกษาที่ต้องใช้ระยะเวลานานเกินไปจนอาจทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที ความสำเร็จของการทำการศึกษา กับความสำเร็จของการนำข้อมูลไปใช้เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกัน การศึกษาประเภทนี้มักกำหนดกลุ่มประชากรที่มากมาย หรืออาจต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ซับซ้อน เนื่องจากระเบียบวิธีวิจัยไม่เหมาะสมไม่สามารถตอบคำถามวิจัยได้เวลาที่ใช้ในการศึกษาอาจเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ร่วมมือ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ยากแก่การเข้าถึงได้หรือการศึกษาที่ไม่อาจเข้าถึงข้อมูลได้โดยวิธีการศึกษาปกติ เช่น การศึกษาพฤติกรรมของประชากรที่ถูกคุมขังในสถานกักกัน หรือในสถานที่ต้องห้าม

3)          การศึกษาในเรื่องที่มองเห็นคำตอบอยู่แล้ว ที่ไม่จำเป็นต้องศึกษา เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้หรืออาจจะเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งทางความคิด เช่น ปัจจัยที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่ออมเงิน หรือ ปัจจัยที่ทำให้เด็กที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถมาเรียนหนังสือได้ หรือการศึกษาความพึงพอใจในรายได้และสวัสดิการของพนักงาน

3.4.3        ความน่าสนใจและทันต่อเหตุการณ์

หัวข้อการศึกษาที่มีความน่าสนใจและทันต่อเหตุการณ์ เป็นเรื่องที่มักจะมีการศึกษากันอย่างหลากหลาย เช่น การศึกษา พฤติกรรมการควบคุมตนเองในการทำงานในสำนักงานเสมือนจริง  (Virtual Office) หรือผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อน เป็นต้น ความน่าสนใจที่จะนำมาต่อยอดทางธุรกิจก็เป็นแนวคิดที่มักทำให้ผู้วิจัยมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาข้อมูล

3.4.4        ความสนใจของผู้วิจัย

ความสนใจในเรื่องที่ต้องการทำเป็นความต้องการส่วนบุคคลที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ทำการศึกษายินดีและเต็มใจที่จะศึกษาไม่ทอดทิ้งงานกลางครัน ทำให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

3.4.5         ความสามารถที่จะทำการศึกษาให้สำเร็จลุล่วง

นอกจากความรู้ ความสามารถ และทักษะการทำงานวิจัยแล้ว เงื่อนไขของเวลาและบริบทของสาระ ก็มีความสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องการกำหนดขอบเขตของการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของเวลาที่ต้องการนำการศึกษานั้นมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ ให้สอดคล้องพอเหมาะกับสารประโยชน์ที่จะนำมาใช้

การกำหนดหัวข้อในการศึกษา/วิจัย นอกจากจะมีความสำคัญในการได้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจในงานแล้วยังเป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาความสำเร็จของเรื่องที่ต้องการศึกษา/วิจัยด้วย

 

หน่วยที่ 4 การเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัย

4.1 ความสำคัญของเค้าโครงการศึกษา/วิจัย

            โครงการ (Proposal) หรือโครงร่าง เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแนวทางและแผนงานเพื่อการศึกษา/วิจัย เป็นการนำเสนอ เพื่อให้เกิดการยอมรับ โครงการศึกษา/วิจัย นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อกำหนดการดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์เป็นตัวกำกับ เพื่อออกแบบกิจกรรมการศึกษา/วิจัย

4.2  ประเด็นหลักของเค้าโครงการศึกษา/วิจัย
เค้าโครงการศึกษา/วิจัยทำหน้าที่ เป็นตัวแทนของการดำเนินการหรือพันธกิจ เป็นแผนการ และเป็นจุดเริ่มต้นของรายงานที่จัดพิมพ์ในท้ายที่สุด การเขียนและนำเสนอเค้าโครงการศึกษา/วิจัยควรคำนึงถึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
                   4.2.1 เค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องแสดงความเป็นตัวแทนของการดำเนินการการศึกษา/วิจัย ที่มีข้อเขียนที่เป็นกิจกรรม หรือเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่สถาบันหรือปัจเจกบุคคลต้องการจัดกระทำ การเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการวางแผน การพัฒนา และการได้มาซึ่งทรัพยากรที่ใช้ทั้งหมดในการวิจัย เค้าโครงการศึกษา/วิจัยวิจัยที่ดีจะสะท้อนถึงทักษะของผู้ทำการศึกษา/วิจัย
                   4.2.2 เค้าโครงการศึกษา/วิจัย เป็นเอกสารที่ใช้นำเสนอขอทรัพยากรที่ต้องการจากแหล่งทุน การเขียนต้องใช้ทักษะนการโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อว่ามีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษา/วิจัย ดังนั้นจึงต้องระบุสาเหตุและปริมาณของผลงานอย่างชัดเจน  ต้องระบุวัตถุประสงค์ที่วัดได้ ผล ประโยชน์ที่ได้รับ ระเบียบวิธีการที่ใช้ดำเนินการโปรแกรมและลำดับของกิจกรรมการที่จะทำให้แหล่งทุนเชื่อมั่นว่าเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่เสนอขอทุนเป็นความต้องการที่จำเป็น การบรรลุผลได้ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ เนื้อหาเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่หนักแน่นและการโน้มน้าวเค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องมีข้อเท็จจริงและข้อมูลที่สนับสนุนเพื่อให้เค้าโครงการศึกษา/วิจัยมีหลักการและเหตุผล เค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่เขียนขึ้นมาอาจถูกปฏิเสธได้ถ้าผู้อนุมัติเห็นว่าไม่น่าสนใจ เพราะมีข้อคิดไม่ดึงดูดใจหรือไม่น่าเชื่อถือ การเขียนจึงต้องใช้ทักษะในการโน้มน้าวให้ผู้อนุมัติเห็นว่าเป็นการนำเสนอที่น่าเชื่อถือและเป็นน่าสนใจ แม้ว่ารูปแบบการเขียนของแต่ละบุคคล จะเป็นรูปแบบเฉพาะตัวบุคคล แต่การเขียนเป็นศาสตร์ก็ยังต้องการความหนักแน่นของปัญหา ลีลาการเขียนเชิงศาสตร์วิจัยมีจุดมุ่งหมายของการเขียนในเชิงวิชาการ  ไม่ใช่เพื่อความบันเทิง แต่เพื่อการค้นคว้าหาความจริงเพื่อตอบปัญหาอันจะนำ/ปสู่แนวทางในการแก้ปัญหานั้น ลีลาการเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องมีความดึงดูด ภาพลักษณ์ ความเชื่อถือได้ สร้างอารมณ์ และความเหมาะสมของภาษา ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาพูดสำนวนโลดโผนและภาษาที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ข้อเขียนหรือความคิดเห็นที่รุนแรง เพราะอาจเป็นสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองหรือความคิดอ่าน ที่แสดงออกในด้านความคิดเห็นอย่างอัตวิสัยมากเกินไป ทำให้เกิดความลำเอียงหรือมีอคติในการดำเนินเค้าโครงการศึกษา/วิจัย ใช้คำที่มีเหตุผลและหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เฉพาะที่สะเทือนอารมณ์และความรู้สึกให้เค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องแสดงความมุ่งมั่นในวัตถุประสงค์ ต้องบ่งบอกความมีชีวิตจิตใจและสามารถเสนอความคิดใหม่ๆ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

4.2.3 เค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องแสดงพันธกิจของเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงานที่อนุมัติ มีช่วงเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เค้าโครงการศึกษา/วิจัยมักเป็นเอกสารที่ใช้บังคับทางกฎหมาย คล้ายสัญญา

4.2.4 เค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องสะท้อนแผนดำเนินการ โดยระบุแนวทางทั้งหมดที่จัดเป็นระบบและนำไปสู่การปฏิบัติได้ เค้าโครงการศึกษา/วิจัยอธิบายกิจกรรมที่สำคัญ เหตุผลที่จำเป็น วิธีการจัดการ การประสบผลสำเร็จ และตารางเวลา องค์การและจำนวนและประเภทบุคลากรที่จำเป็นต้องใช้ ควรระบุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องใช้และงบประมาณค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ

การเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัยจึงเป็นการวางแผนและพัฒนาโปรแกรมที่สำคัญ เค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่ดีสะท้อนการวางแผนที่ดีและเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา/วิจัยที่มีคุณภาพการจัดการเป็นมาตรฐาน เค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่บ่งบอกความเป็นไปได้ในการดำเนินการ มีข้อเสนอในเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่น่าสนใจ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือเค้าโครงการศึกษา/วิจัยต้องระบุวิธีการประเมินการดำเนินการที่เสนอในเค้าโครงการศึกษา/วิจัยอย่างชัดเจน เพื่อให้มองเห็นภาพว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนั้นเค้าโครงการศึกษา/วิจัยยังต้องแสดงวิธีการเผยแพร่ข้อค้นพบจากการดำเนินการไปยังหน่วยงานอื่นเป็นการเอื้อประโยชน์หรือนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าในขั้นต่อไป ดังนั้นการศึกษาค้นคว้า/วิจัยที่เสนอในเค้าโครงการศึกษา/วิจัยจึงควรต้องมีความสำคัญต่อสังคมและให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมีคุณค่าในการใช้เวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ในการศึกษา/วิจัยด้วย

                 4.2.5 เค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นจุดเริ่มต้นของรายงานและกระบวนการจัดพิมพ์ การนำเค้าโครงการศึกษา/วิจัยไปใช้ด้วยการเสนอผลการวิจัยที่มีการดำเนินการและประเมินเค้าโครงการศึกษา/วิจัยตามระเบียบวิธีการ การเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษา/วิจัยรวมทั้งจัดพิมพ์และเผยแพร่ข้อค้นพบ การเริ่มต้นกระบวนการเขียนมักจะเป็นการขยายข้อเขียนต่อจากเค้าโครงการศึกษา/วิจัยที่นำเสนอตอนต้น เค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นโครงร่างของรายงานที่สมบูรณ์ ในการเขียนบทความ เค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นหลักการและบรรยายเค้าโครงการศึกษา/วิจัยฉบับย่อ ในการเขียนรายงาน เค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นแก่นโครงสร้างของรายงาน การเขียนรายงานทำได้โดยเพิ่มเติมข้อมูลรายละเอียดการปฏิบัติตามเค้าโครงการศึกษา/วิจัย ข้อค้นพบ การประเมิน การอภิปรายผล สรุป และข้อเสนอแนะ โดยต้องมีความสัมพันธ์และสัดส่วนที่พอเหมาะกับส่วนอื่นของเค้าโครงการศึกษา/วิจัย

                  เค้าโครงการศึกษา/วิจัยอาจได้รับการปรับและพัฒนาให้เป็นเอกสารที่เผยแพร่ได้ โดยปรับจากข้อมูลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ถ้าเค้าโครงการศึกษา/วิจัยนั้นมีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมาอย่างดี นอกจากนั้น การปรับเค้าโครงการศึกษา/วิจัยเพื่อเผยแพร่อาจทำโดยรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายซึ่งไม่เคยได้รับการรวบรวมมาก่อน เพื่อเติมช่องว่างขององค์ความรู้และเสนอแนะการวิจัยที่จำเป็นในอนาคตอย่างมีเหตุผล เอกสารเผยแพร่ลักษณะนี้มักได้รับความสนใจจากบรรณาธิการวารสารวิชาการ โดยเฉพาะถ้าเอกสารนั้นมีการทบทวนวรรณกรรมเป็นอย่างดี หลังจากเค้าโครงการศึกษา/วิจัยเสร็จสมบูรณ์ บทความเผยแพร่นี้เป็นเอกสารอ้างอิงเพื่อเผยแพร่ข้อค้นพบ ดังนั้น ไม่ว่าจะพัฒนาเค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นรายงานหรือบทความ สิ่งมี่ควรคำนึงถึงคือเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัยให้ดีที่สุดเพื่อให้การพัฒนาเค้าโครงการศึกษา/วิจัยเป็นเอกสารต่อไปกระทำได้ง่ายขึ้น

            4.3  ขั้นตอนในการเขียนเค้าโครงการศึกษา/วิจัย

      4.3.1 กำหนดแนวคิดเค้าโครงจะเริ่มจากความสนใจของผู้ทำการศึกษา/วิจัย อาจเขียนรายชื่อหัวข้อที่ตนสนใจ แล้วย้อนมาอ่านทบทวนในภายหลังโดยอาจเพิ่มบางประเด็นที่ยังไม่ได้เขียนไว้ตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นจึงย้อนมาพิจารณาหัวข้อที่ตรงตามจุดมุ่งหมายของตน ปรับหัวข้อที่ทำได้ยากหรือไม่เหมาะสมที่จะทำ ก็ทำให้เหลือหัวข้อที่นำมาอภิปรายและกำหนดแผนการและศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ
                  4.3.2 ผู้วิจัยต้องทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อบีบประเด็นให้แคบจนตั้งเป็นคำถามวิจัยที่สำคัญที่สุดได้ ทำให้มองเห็นความสำคัญของหัวข้อได้ชัดเจนขึ้น และสามารถทำให้วัตถุประสงค์อยู่ในรูปแบบที่วัดได้ วิธีการดังกล่าวขึ้นกับประสบการณ์ของผู้วิจัยและทีมงานก่อนเริ่มโครงการวิจัยที่สมบูรณ์ เมื่อผู้เขียนทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีแล้ว ผู้เขียนควรมีโครงการฉบับย่อที่สั้นแต่มีสาระที่หนักแน่น เพื่อช่วยให้เห็นแนวคิดโครงการและทำให้ผู้อ่านหรืออนุมัติประทับใจและต้องการอ่านโครงการฉบับสมบูรณ์

4.4 ส่วนประกอบของเค้าโครงการศึกษา/วิจัย     

เค้าโครงการศึกษา/วิจัย เป็นโครงร่างที่ผู้วิจัยนำเสนอต่อบุคคล ให้ยอมรับประเด็นที่นำเสนอ ซึ่งอาจเป็นบุคลที่ไม่คุ้นเคยกับหัวข้อและ/หรือเงื่อนไขที่นำเสนอ จึงต้องมีการเรียบเรียงให้ผู้อ่านได้กระจ่างชัด และโน้มน้าวให้เกิดการ ยอมรับ ในประเด็นข้อคำถามที่เป็นปัญหาวิจัย  และวัตถุประสงค์การศึกษา/วิจัย สามารถทดสอบได้ในกรณีที่การศึกษา/วิจัยนั้นมีสมมติฐาน มีรูปแบบการวิจัย การดำเนินการวิจัย จำนวนและลักษณะของประชากรที่ต้องการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับศึกษา/วิจัย วิธีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล สถานที่เก็บข้อมูล ระยะเวลาการเก็บข้อมูล

ส่วนประกอบเค้าโครงการศึกษา/วิจัย ประกอบรายละเอียดด้วยส่วนต่างๆ แต่การเขียนเค้าโครงอาจลดขั้นตอนลงมาได้บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความละเอียดที่ต้องการนำเสนอเค้าโครง

1) ชื่อเรื่องการศึกษา/วิจัย
2) ผู้รับผิดชอบ
3) หลักการและเหตุผล
4) วัตถุประสงค์ 
5) วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
6) ประโยชน์ที่ได้รับ
7) ขอบเขตของการศึกษา/วิจัย
    7.1)  ประชากร
    7.2)  กลุ่มตัวอย่าง (วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวนกลุ่มตัวอย่าง)
    7.3)  ตัวแปรในการศึกษา/วิจัย ตัวแปรต้น (ตัวแปรอิสระ)  ตัวแปรตาม (ตัวแปรที่เป็นผลของการศึกษา)  กรอบความคิดในการศึกษา/วิจัย 

7.4)  แผนการดำเนินการ 
    7.5)  ขั้นตอนการดำเนินการ
    7.6)  แหล่งข้อมูล/สถานที่ทำการศึกษา/วิจัย
    7.7)  เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล
    7.8)  การจัดการข้อมูล
    7.9)  การวิเคราะห์ข้อมูล

7.10) สถิติ 
                7.11) ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินโครงการ
                7.12) งบประมาณที่ใช้ (ถ้าจำเป็นต้องมี)


โครงการศึกษา/วิจัยทำหน้าที่เป็นแผนที่ของการดำเนินการ (Road Map) ที่จะนำไปสู่การทำการศึกษา/วิจัย เป็นความคิดรวบยอดในการที่จะดำเนินการจากจุดเริ่มต้นให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการศึกษา/วิจัย  วิจารณ์  พานิช (25 เม.ย. 2549) กล่าวถึงความสำเร็จว่าอยู่ที่ การคิดใหญ่ คือ คิดให้ครอบคลุมเชื่อมโยง คิดในเชิงระบบ มองเป็น “ระบบซ้อนระบบ” คือ มอง   เห็นถึงความเป็นเหตุเป็นผล ทำเล็ก คือ เลือกทำเฉพาะจุด เลือกเรื่องที่เป็นจุดคานงัด ที่เมื่อทำสำเร็จจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนอื่น เป็นเรื่อง/จุดที่ไม่ยากจนเกินไป พอจะทำให้สำเร็จได้ เมื่อเสร็จแล้วจึงหาทางขยายความสำเร็จนั้น และข้อคิดที่สำคัญ คือ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีความสำเร็จเล็ก ๆ เป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ความสำเร็จของการทำการศึกษา/วิจัยขึ้นอยู่กับความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ และความรู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีประโยชน์ และน่าสนใจ ความรู้สึกว่างานมีคุณค่าจะทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะพยายามทำงานได้สำเร็จ

 

หน่วยที่ 5  ความสำคัญของบทในการศึกษา/วิจัย

การเขียนรายงานการศึกษา/วิจัยมีความสำคัญเพราะทำให้ผู้อ่านรายงานได้ข้อมูลที่สำคัญที่เป็นขั้นตอนตามลำดับของการดำเนินการศึกษา/วิจัย ความชัดเจน ความสมบูรณ์ของข้อมูลและความเป็นระเบียบของการรายงานที่เป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์และเชื่อถือได้

การเขียนบทรายงานการศึกษา/วิจัย ใช้หลักสากลในการกำหนดบท การกำหนดจำนวนบท ชื่อบท ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามแนวความคิดของแต่ละสำนักวิจัย และแล้วแต่ความเหมาะสมของงาน ดังนั้นการกำหนดจำนวนบทและชื่อบทจึงไม่ตายตัวเสียทีเดียว แต่โดยปกติแล้วการเขียนรายงานจะประกอบด้วย 5 บทหลัก

            ในการเขียนแตละบทนั้น ถ้าจะให้มีความราบรื่นในการรายงานแนะนำให้เขียนเกริ่นนำเริ่มต้นของบทเพื่อทำให้รายงานน่าอ่าน ส่วนใหญ่การเขียนนำจะเริ่มด้วยการใช้ชื่อและวัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อย้ำนำความคิดของผู้ศึกษาและผู้อ่านให้อยู่ในบริบทของเรื่องที่ทำการศึกษา 

           

 

ความสำคัญและเนื้อหาสาระของแต่ละบท มีดังนี้

1. บทที่ 1 บทนำ

บทนำเป็นบทที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะจะเป็นบทที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านและนำผู้อ่านให้เกิดความต้องการที่จะติดตามผลงานต่อไป ในบทนี้จะทำผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร  มีเหตุผลอะไรจึงต้องนำมาศึกษา มีวัตถุประสงค์อะไร จะศึกษากับใคร ที่ไหน เมื่อไร และจะศึกษาอย่างไร การศึกษานี้มีประโยชน์อย่างไร

บทที่ 1 ประกอบด้วยหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยต่าง ๆ ครบถ้วนตามสาระที่กำหนดให้มีในการรายงานซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม หัวข้อหลักได้แก่

1.1  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหลักการและเหตุผล  

       1.1.1 แนวทางในการเขียน ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือหลักการและเหตุผล ต้องเขียนบรรยายเพื่อแสดงเหตุผลให้เห็นว่าเรื่องที่นำมาศึกษานี้สำคัญและจำเป็นหรือน่าสนใจอย่างมากจนถึงขนาดที่ทำให้ผู้ศึกษาหรือคณะผู้ศึกษาสนใจและได้ตัดสินใจเลือกศึกษาเรื่องนี้ เป็นความพยายามของผู้ศึกษาที่จะเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเรื่องที่ศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ น่าสนใจ และน่าติดตาม  

                    1.1.2 เทคนิคในการเขียน เริ่มจากอธิบายโดยย่อถึงความเป็นมานับแต่อดีต และผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่องกันตามลำดับ การนำคำสำคัญในชื่อเรื่องที่ศึกษามาเขียนบรรยายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำจะเปิดประเด็นของปัญหาและนำเข้าสู่ความสำคัญของปัญหาที่จำเป็นต้องมีการศึกษา/วิจัยได้ดี อาจใส่แนวคิด ทฤษฎี หรือหลักการที่เกี่ยวข้อง หรืออาจนำสุภาษิต คำพังเพย หรือคำกล่าวของผู้รู้ (ต้องอ้างอิง) มาใส่ไว้ด้วยตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหาสาระ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ

ในส่วนนี้ต้องแสดงความสำคัญในหลักการและเหตุผลว่า ปัญหาคืออะไร มีข้อมูลและมีหลักฐานมายืนยัน ว่าเกิดปัญหานั้นจริง เกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดขึ้นในส่วนไหน ลักษณะของปัญหาเป็นอย่างไร และให้ระบุว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องทำการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลมาเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

การบรรยายปัญหาที่ศึกษาควรมีความยาวพอเหมาะ คือ ประมาณ 2- 4    หน้ากระดาษเอ 4 เพื่อให้กะทัดรัดและไม่ยืดเยื้อ จนเกิดหลงประเด็นสำคัญ รายละเอียดที่จำเป็นบางส่วนอาจนำไว้ในทบทวนวรรณกรรมหรือในภาคผนวก ถ้าเป็นข้อมูล ไม่ใช่ปัญหาการศึกษา/วิจัย

1.2 วัตถุประสงค์ของการศึกษา เป็นการระบุว่าจะต้องการทำอะไรในการศึกษา/วิจัยเรื่องนั้น โดยต้องกำหนดให้มีความชัดเจน แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร

ในการเขียนวัตถุประสงค์ต้องเขียนป็นประโยคบอกเล่า และแยกประเด็นที่เจาะจงให้เป็นข้อ ๆ จะมีกี่ข้อก็ได้ตาม แต่ต้องสอดคล้องและตรงประเด้ฯกับปัญหาที่ต้องการจะศึกษาเท่านั้น

  1.3 สมมติฐานการศึกษา/วิจัย คือ ผลของการวิจัยที่คาดว่าจะเป็น โดยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งก็คือ คำตอบคำถามวิจัย การเขียนสมมติฐานต้องนำมาทดสอบด้วย

ส่วนคำถามวิจัย เป็นวิธีการหนึ่งที่ในปัจจุบันนำมาใช้ เพราะการตั้งคำถามวิจัยเป็นการแสดงเจตนาในการศึกษา เพื่อทำให้ผู้ศึกษา/วิจัยมองเห็นแนวทางในการศึกษา โดยการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากการวิจัยและผลการวิจัยจะตอบคำถามนั้นได้ ส่ว

วัตถุประสงค์ คำถามวิจัยและสมมติฐานมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน สามารถแสดงได้จากภาพที่ 5.1

วัตถุประสงค์                                    จะทำอะไร

 

 


 

คำถามวิจัย                                      มีคำถามว่าอย่างไร

 

 


 

                        สมมติฐาน                                       คำตอบคืออะไร /อย่างไร

 

            ภาพที่ 5.1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง วัตถุประสงค์ คำถามวิจัยและสมมติฐาน

 

    1.4 ขอบเขตของการศึกษา

    ขอบเขตของการศึกษา เป็นการระบุขอบเขตพื้นที่ เนื้อหา ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง และระยะเวลาในการศึกษา วันเดือนปี ในช่วงเวลาที่จะทำการศึกษาและบริบทของสถานที่เก็บข้อมูล รวมทั้งข้อจำกัดของการศึกษา (ถ้ามี)

1.5  ข้อตกลงเบื้องต้น ถ้ามีความจำเป็นก็ให้กล่าวถึงไว้ เช่น ในการศึกษา/วิจัยนี้รวมแผนก แผนกแม่บ้าน แผนกรักษาความปลอดภัย และแผนกพยาบาล ไว้ด้วยกัน กำหนดให้เป็นหน่วยบริการกลาง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ฯลฯ เป็นต้น

1.6 นิยามศัพท์เฉพาะหรือคำจำกัดความ ในการศึกษาจะมีคำที่ผู้ศึกษา/วิจัย กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการเขียนรายงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันทั้งผู้ศึกษา ผู้อ่านรายงานการศึกษา จึงจำเป็นต้องกำหนดความหมายของคำศัพท์พิเศษที่ปรากฏในรายงานไว้ให้ครบถ้วน ดังนั้นการเลือกคำมานิยามศัพท์เฉพาะต้องเลือกเฉพาะที่อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ทำการศึกษาและผู้อ่านรายงานการศึกษา ส่วนคำที่มีความหมายเชิงประจักษ์อยู่แล้วไม้ต้องนำมานิยาม เช่น อายุ สถานภาพสมรส เงินเดือน เป็นต้น

1.7 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา เป็นการเขียนที่แสดงถึงความน่าสนใจของการศึกษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง ว่าจะนำผลการศึกษา/วิจัยไปใช้ในอนาคตได้อย่างไร มีข้อใดที่จะเป็นประโยชน์ได้บ้างทั้งในองค์การและนอกองค์การ หรือในธุรกิจอื่น ๆ

 

บทที่ 2  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

          การเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการแสดงความเป็นนักวิชาการอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความสามารถสืบค้นหาหลักฐานทางด้านเอกสารที่เป็นหลักการ ทฤษฎีและงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้เพื่อนำมาเป็นฐานความคิดและนำไปสู่กรอบความคิดการศึกษาที่สามารถกำหนดตัวแปรในการศึกษาได้ บางรายงานใช้คำว่า วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาปัญหาพิเศษกำหนดให้มีเอกสารเป็นภาษาไทย จำนวนไม่น้อยกว่า 5 เล่ม ภาษาอังกฤษ 2 เล่ม งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ภาษาไทย 3 เล่ม ภาษาอังกฤษ 2 เล่ม

วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หมายถึง เนื้อหาสาระที่เป็นความรู้ในหนังสือ ตำรา เอกสาร ผลงานวิจัย บทความ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา ส่วนการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หมายถึง การที่ผู้ศึกษาได้ศึกษา อ่าน หรือเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นจากวรรณกรรมและงานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎี หลักการ ระเบียบวิธีวิจัย ตัวแปร หรือเรื่องอื่นใด แล้วนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ (วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, 2551)

1.  หลักในการทบทวนวรรณกรรมหรือทบทวนเอกสาร ให้พิจารณาใช้คำสำคัญที่สกัดมาจากหัวข้อเรื่องเป็นหลักในการที่จะเข้าสู่การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมหรือเอกสาร จะเห็นได้ว่าการกำหนดหัวข้อเรื่องสามารถนำไปใช้ในการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ หัวข้อที่กำหนดชัดเจน ทำให้สามารถจำกัดขอบเขตของวรรณกรรม หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ครอบคลุมเรื่องที่ศึกษา ทำให้วรรณกรรมหรืองานวิจัยที่ทบทวนนั้นตรงประเด็น นำมาใช้ประโยชน์ได้ นำมาเป็นหลักสำคัญในการสร้างเครื่องมือและนำมาเป็นหลักคิดในการอภิปรายผล

            การทบทวนวรรณกรรม  มีความสำคัญต่อการศึกษา/วิจัย เช่น ทำให้มองเห็นความหลากหลายของการศึกษาและงานวิจัย รู้ว่ามีการศึกษาในหัวข้อนี้มาก่อนหรือไม่ ศึกษาในลักษณะใด ช่วยให้พิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อการต่อยอด และนำไปเขียนประกอบความสำคัญของปัญหาได้  และยังทำให้ได้หลักการ ทฤษฎีมาเป็นกรอบความคิดในการสร้างเครื่องมือการศึกษา ข้อมูลและเอกสารเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในการนำไปวิเคราะห์และอภิปรายผลในภายหลังด้วย

แหล่งข้อมูลเอกสารเหล่านี้อาจได้มาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น บุคคล กลุ่มโครงการ หรือองค์การ  (Individuals, Groups, and Organizations) เอกสารสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร และ เอกสารที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ เช่น แผ่นบันทึกเอกสาร เสียง ภาพ เป็นต้น จำนวนเอกสารที่นำมาอ้างอิงควรมีความหลากหลายและมีจำนวนมากเพียงพอที่จะแสดงว่าได้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง

วิธีการทบทวนวรรณกรรมหรืออ่านเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะว่าควรอ่านผ่านตลอดไปให้จบก่อนเพื่อมองหาประเด็นที่เกี่ยวข้องแล้วจึงตั้งใจอ่านในประเด็นนั้นก่อนสรุปความเข้าใจ วิธีนี้จะทำให้ได้เลือกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่าลอกมาทั้งหมด การไม่เลือกประเด็นจะทำให้ข้อมูลขาดความหนักแน่นของเนื้อหาสาระ ทำให้ข้อมูลไร้ขอบเขต

การเขียนเรียบเรียงใหม่ทำให้ได้ใช้สำนวนการเขียนของตนเองเป็นหลัก อาจจะแทรกความคิดเห็นที่ประมวลมาจากการอ่านหลาย ๆ เอกสารหรือบทความเข้าด้วยกัน นอกจากนี้การเขียนการทบทวนวรรณกรรมด้วยการเปรียบเทียบวรรณกรรมที่อ่านในส่วนที่มีผู้กล่าวถึงลักษณะที่คล้ายคลึงกัน มีผู้ให้ข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมที่นอกเหนือไปจากหลักการเดิม หรือในลักษณะที่แย้งกัน ก็จะทำให้การทบทวนวรรณกรรมมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งยังบ่งบอกถึงความเป็นนักวิชาการที่สามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบข้อมูลอีกด้วย การเรียบวรรณกรรมเหมือนกับการร้อยมาลัยเพื่อให้ได้พวงมาลัยที่สวยงามในแบบที่ต้องการ ด้วยชนิดของดอกไม้ ลวดลาย การตกแต่ง และขนาดที่พอเหมาะ พอควร ดังนั้นการร้อยเรียงวรรณกรรมนับว่าเป็นศิลปในการบูรณาการความรู้ที่ผู้เขียนสกัดออกมาอย่างมีทักษะในการนำเสนอ    

ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องคัดลอกมา การอ้างอิงแบบคัดลอกมาไม่เกิน 3 บรรทัด ให้พิมพ์ต่อไปโดยไม่ต้องย่อหน้าและให้ใส่ไว้ในเครื่องหมายคำพูด หากข้อความที่คัดคัดลอกมีความยาวต่อกันเกิน 3 บรรทัด ให้พิมพ์แยกมาขึ้นบันทัดใหม่และร่นขยับให้ด้านซ้ายของข้อความอยู่เสมอย่อหน้าและไม่ต้องใส่ไว้ในเครื่องหมายคำพูด ให้ศึกษาตัวอย่างจากคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ หน้า 17

ข้อพิจารณาในการจัดทำวรรณกรรม

1.1              ค้นคว้าข้อมูลให้ครอบคลุมหลักคิดและแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ๆ ตามวัตถุประสงค์

1.2              เรียบเรียงความคิดให้เป็นขั้นตอน มีการลำดับความคิดก่อนหลังเพื่อเชื่อมโยงกันให้เกิดการหยั่งเห็นในแนวทาง วธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหานั้น ๆ การเขียนที่ไม่เรียบเรียงความคิดแสดงถึงความคิดที่ไม่เป็นระบบ และความไม่สามารถแสดงออกทางด้านปัญญา

1.3              พยายามค้นคว้าให้ได้ข้อมูลในแต่ละแนวทางที่หลากหลายเพื่อนำมาวิเคราะห์แยกส่วนและนำมาสังเคราะห์รวมส่วนแบบร้อยเรียงกัน

1.4              คัดลอกแต่เฉพาะส่วนที่จะนำมาใช้เท่านั้น  เพื่อนำส่วนที่เป็นฐานคิดมาวิเคราะห์รการลอกแบบตะลุยทำให้เนื้อวรรณกรรมไม่เข้ากับเรื่องที่ต้องการศึกษาและทำให้วรรณกรรมกลายเป็นน้ำท่วมทุ่ง  และการค้ดลอกมาต้องอ้างอิง

1.5              การใช้ตำราหรือผลงานของใครคนใดคนหนึ่งเพียงเล่มเดียวถือว่าเป็นการลอกผลงานของผู้อื่น

การนำสาระเนื้อหาหลักการ ทฤษฎี งานวิจัยและข้อมูลมาใส่ลงในบท สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง คือ การอ้างอิงที่มาให้ถูกต้องด้วยการสะกดชื่อ นามสกุล ตามที่เจ้าของชื่อและนามสกุลเขียนไว้ ปี และหน้าของเอกสารที่นำมาต้องถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ การไม่ใส่อ้างอิงที่มาถือว่าเป็นการเสียมารยาท และมีความผิดถึงขั้นอาจมีการฟ้องร้องกันได้ ดังนั้นการอ้างอิงที่มาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง ส่วนรูปแบบและวิธีการอ้างอิงให้ศึกษาจากเอกสารของสำนักวิชาการหรือมหาวิทยาลัยนั้นประกอบ

การใช้ภาษาอังกฤษต้องแปลเป็นภาษาไทย และนำภาษาอังกฤษไปใส่ในวงเล็บเสมอ และการใช้ภาษาอังกฤษแบบทับศัพท์ต้องเขียนให้ถูกหลัก และวงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย หมายความว่าจะไม่มีการเขียนภาษาอังกฤษอยู่นอกวงเล็บ

            2.  หลักในการเขียนกรอบความคิดในการศึกษา (Conceptual Framework) ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์กรอบความคิดมีความสำคัญเพราะเป็นการแสดงความเชื่อมโยงความคิดการศึกษาที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรม กรอบความคิดแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ในการศึกษา/วิจัยที่หลากหลาย ดังที่ วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2548) เรียบเรียงไว้ ดังนี้

     1) กรอบแนวคิดที่แสดงปัญหา (Problem) แนวทางแก้ไขซึ่งรวมทั้งการป้องกันด้วย (Suggestion)

      2) กรอบแนวคิดที่แสดง ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) หรือเหตุ ตัวแปรตาม (Independent Variable) หรือผลการศึกษา

      3) กรอบแนวคิดที่แสดงหลักเกณฑ์ใหญ่หรือ หลักการทั่วไป (General) ส่วนเฉพาะเจาะจง (Specific)

      4) กรอบแนวคิดที่แสดงปัญหา (Problem) สาเหตุ (Cause) แนวทางแก้ไขหรือแนวทางการพัฒนา (Suggestion หรือ Development Guideline) ที่สอดคล้องกัน

5) กรอบแนวคิดที่แสดง เหตุ (Cause) ผล (Effect) ผลกระทบ (Impact)

      6) กรอบแนวคิดที่แสดง ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการปรับเปลี่ยน (Process) ปัจจัยนำออก (output)

      7) กรอบแนวคิดที่แสดง ปัจจัยสนับสนุน (Thesis) ปัจจัยต่อต้าน (Antithesis) ปัจจัยประนีประนอม (Synthesis)

     8) กรอบแนวคิดแสดง สภาพแวดล้อม (Context) ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลผลิต (Product)

     9) กรอบแนวคิดที่แสดง ปัญหา (Problem) สาเหตุ (Cause) แนวทางแก้ไข (Suggestion) ผลกระทบ (Impact)

     10) กรอบแนวคิดที่แสดง ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ปัจจัยนำออกหรือผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcomes)

      11) กรอบแนวคิดที่แสดง ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ปัจจัยนำออกหรือผลผลิต (Output) ผลกระทบ (Impact)

กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา เป็นการแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมที่นำมาทบทวนและเรียบเรียงไว้นั้น มีหลักการและทฤษฎีใดที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ในการศึกษา/วิจัยได้อย่างไรบ้าง  กรอบความคิดการศึกษา คือความคิดรวบยอดของประเด็นต่าง ๆ ที่จะใช้ในการศึกษา/วิจัย

กรอบความคิดในการศึกษา อาจรายงานอยู่ใน บทที่ 1 ก็ได้ เพราะเป็นการประมวลระเบียบวิธีการศึกษา/วิจัย แต่การนำมาเขียนไว้บทที่ 2 เนื่องจากเมื่อได้ทบทวนวรรณกรรมแล้วก็จะมีความกระจ่างพอที่จะประมวลออกมาเป็นกรอบความคิดการศึกษา/วิจัยได้ การนำเสนอในบทใดขึ้นอยู่กับหลักปฏิบัติของสำนักวิจัยหรือมหาวิทยาลัย

 

บทที่ 3  วิธีการดำเนินการศึกษา

            วิธีดำเนินการศึกษามี 2 วิธี คือ วิธี เชิงปริมาณ และวิธีเชิงคุณภาพ โดยทั่วไปแล้วในการวิจัยธุรกิจมักจะใช้วิธีเชิงปริมาณมากกว่าวิธีเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถามและแบบสำรวจ แต่ในการศึกษาที่ต้องการความลึกซึ้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึกที่เป็นข้อมูลเชิงลึกมักจะให้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้คำถามแบบปลายเปิด

การศึกษา/วิจัยไม่ว่าผู้ศึกษาจะเลือกศึกษาด้วยวิธีใด ในการเริ่มต้นของบทที่นี้จะต้องกล่าวนำด้านวัตถุประสงค์ของการศึกษา/วิจัยและนำเข้าสู่การรายงานวิธีการดำเนินการศึกษาตามระเบียบวิธีการศึกษา/วิจัย โดยละเอียด

             1. การระบุประชากรที่ใช้ในการศึกษา และวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างให้กลุ่มตัวอย่างสามารถแทนประชากรได้

                  1.1  ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง กำหนดเป็นจำนวนสัดส่วน และแสดงสูตรการหาจำนวนกลุ่มตัวอย่าง ให้เหตุผลในการเลือกวิธีสุ่มและอธิบายวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

                  1.2  ตัวแปร ตัวแปร  คือ  ลักษณะใด ๆ ที่สามารถวัดได้ และมีผลของการวัดปรากฏออกมา แบ่งออกเป็น ตัวแปรอิสระ  (Independent Variable)  คือ ตัวแปรที่เป็นเหตุ หรือเกิดขึ้นก่อน ตัวแปรตาม  (Dependent  Variable)  คือ ตัวแปรที่เป็นผล หรือเกิดขึ้นทีตามมา  

    1.3 วิธีศึกษา ประกอบด้วย การวัดและประเมินผล การวัด หมายถึงวิธีการที่ทำให้ได้ค่าของตัวแปร ที่เรียกว่า “ข้อมูล” ออกมา ซึ่งจะอยู่ในรูปลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามรูปแบบและวิธีการที่นำมาใช้ในการวัด

2. เครื่องมือ คือ สิ่งที่นำไปใช้เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือวัดตัวแปร เพื่อให้ได้ “ข้อมูล” ตามที่ต้องการ ผู้ศึกษาต้องสร้างเครื่องจากกรอบความคิดการศึกษา ลักษณะของเครื่องมือที่ดีต้องมีการตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้

    2.1 ความเที่ยงตรงหรือความตรง (Validity) คือ ลักษณะที่เครื่องมือที่สามารถวัดได้ถูกต้อง   ตรงตามความเป็นจริง หรือตามที่ต้องการวัดได้ตรงตามเนื้อหา (Content Validity)     ตรงตามสภาพ (Concurrent Validity) ตรงเชิงโครงสร้าง (Construct Validity) ตรงเชิงพยากรณ์ (Predictive Validity)

    2.2 ความเชื่อถือได้หรือความเที่ยง   (Reliability) คือ ลักษณะที่สามารถวัดได้คงที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วัดหลายครั้งได้ผล เหมือนเดิม หรือถ้าเปลี่ยนก็จะเป็นไปในทางเดียวกัน

    2.3 อำนาจจำแนก (Discrimination) คือลักษณะที่สามารถแยกกลุ่มสูง หรือ กลุ่มที่มีค่ามาก ออกจากกลุ่มต่ำ หรือกลุ่มที่มีค่าน้อยได้

เครื่องมือที่ใช้ในเชิงปริมาณได้แก่ แบบสอบถามและแบบทดสอบ ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในเชิงคุณภาพ

3. การเก็บรวบรวมข้อมูล ในการศึกษาเชิงปริมาณมีเก็บข้อมูลด้วยการวัดเป็นระดับหรือมาตรวัดที่ใช้กับเครื่องมือ 4 ลักษณะต่อไปนี้

ลักษณะที่ 1 มาตรานามบัญญัติ (Nominal Scale) เป็นการบอกชื่อ จัดกลุ่ม หรือแบ่งประเภท   ของสิ่งต่าง ๆ ไม่มีความหมายเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ เช่น เพศ อาชีพ สังกัด ประเภทสินค้า เป็นต้น 

ลักษณะที่ 2 มาตราเชิงอันดับ (Ordinal Scale) สามารถเปรียบเทียบเพื่อเรียงลำดับได้ มีความหมายเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ เช่น ตำแหน่ง   ยศ   ขนาดของสิ่งของ (เล็ก กลาง ใหญ่อันดับนางงาม มาตราส่วนประมาณค่า เป็นต้น

ลักษณะที่ 3 มาตราอันตรภาค (Interval Scale) มีลักษณะเป็นช่วงเท่ากันในแต่ละหน่วย เช่น หน่วยวัดอุณหภูมิ   คะแนนจากการสอบที่มีค่าศูนย์เป็นศูนย์สมมติ

ลักษณะที่ 4 มาตราอัตราส่วน (Ratio Scale) มีลักษณะเหมือนมาตราอันตรภาค แต่มีค่าศูนย์แท้หรือศูนย์สัมบูรณ์ (Absolute Zero) เช่น รายได้   อายุ   หน่วยวัดความยาว น้ำหนัก หน่วยวัด

5. วิธีการทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  

      5.1 สถิติเชิงบรรยาย (Descriptive Statistics) คือ สถิติที่ใช้อธิบายลักษณะของข้อมูลเท่าที่มีอยู่และนำมาวิเคราะห์เท่านั้น เช่น สัดส่วน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย มัธยฐาน เปอร์เซ็นไตล์ ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน   ค่าสหสัมพันธ์ เป็นต้น

     5.2 สถิติเชิงอ้างอิง (Inferential Statistics) ใช้อธิบายลักษณะของข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ที่เรียกว่ากลุ่มประชากร ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่อการสรุปอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากร และโดยอาศัยข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่อการสรุปอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากร

       สถิติเชิงอ้างอิงแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

             5.2.1 กลุ่มที่หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร (Correlation) 

             5.2.2 กลุ่มที่ใช้ทดสอบนัยสำคัญของความแตกต่าง (Test Significance of Difference)

สำหรับแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้สถิติเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอาจมีความหลากหลายตามคุณลักษณะของข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา เช่น  การสำรวจข้อมูลส่วนตัว หรือการวิเคราะห์ตัวแปรทีละตัว มักใช้สถิติ เช่น ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (X) และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม เปรียบเทียบสัดส่วนหรือจำนวนมักใช้สถิติ เช่น Chi- square test  การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ในกรณี 2 กลุ่ม ใช้ t-test ส่วนกรณีมากกว่า 2 กลุ่ม ใช้ การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance) การหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรระหว่างตัวแปร 2 ตัว Phi Coefficient,  Rank Correlation หรือ Pearson’s Correlation, และระหว่างตัวแปรมากกว่า 2 ตัว Partial Correlation, Multiple Correlation, หรือCanonical Correlation  เป็นต้น

 

บทที่ 4 ผลของการศึกษา

            ในบทนี้ จะเป็นบทที่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีการดำเนินการเก็บรวบรวม นำไปแจกแจงและประมวลผลหาค่าสถิติ ส่วนใหญ่นำเสนอเป็นตารางแสดงค่าสถิติ และตารางเมตริก  การเขียนบรรยายใต้ตารางต้องใช้เทคนิคและทักษะในการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านรายงานมองเห็นความแตกต่างของข้อมูลตามค่าสถิติที่ได้ประมวลได้  และการเขียนต้องเรียบเรียงถ้อยคำบรรยายให้เหมือนกันและให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันตลอดทุกตารางที่แสดงค่าทางสถิติเดียวกัน การนำเสนอตารางโดยไม่มีทิศทางที่แน่นอนทำให้รายงานสับสนและไม่สามารถมองเห็นประเด็นที่เป็นผลของการศึกษา/วิจัยได้ชัดเจน ทำให้เกิดความลำบากในการแปลผลที่ได้จากการศึกษา

            ผลการศึกษา/วิจัยในบทนี้มีความสำคัญ เป็นหัวใจของการศึกษา/วิจัย การรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูลจะทำให้ความจริงที่ต้องการศึกษา/วิจัยปรากฎ ผู้ศึกษาต้องมีทักษะในการสังเกตความแตกต่างและความเหมือนของข้อมูลที่นำมาแปลผลอย่างมีตรรกะทางความคิด เพราะต้องนำสิ่งที่ได้จากการแปลผลข้อมูลเหล่านี้มาสรุปและอภิปรายในบทต่อไป

 

บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

            ในขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษา/วิจัย คือ

1. การสรุปผลการศึกษา/วิจัยที่แปลผลออกมาเป็น การสรุป คือ การนำผลการศึกษาที่สำคัญจากตารางแสดงผลในบทที่ 4 ออกมาจัดกลุ่มและรวบรวมให้เห็นประเด็นความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลที่แปลผลแล้วอย่างชัดเจน ความมากน้อยของระดับที่วัด หรือการจัดอันดับ 

2. อภิปรายผล คือ การนำผลของข้อมูลมาพิจารณาให้เหตุผลตามหลักการและทฤษฎีที่ทบทวนและนำเสนอไว้ในบทที่ 2 มาเป็นหลักในการอภิปรายและให้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ดังนั้นในการอภิปรายผลจึงต้องมีการอ้างอิง หลักการ ทฤษฎี หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

3. ข้อแนะแนะ เป็นการนำผลการศึกษามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ข้อเสนอแนะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นข้อเสนอแนะ โดยใช้ผลการศึกษา/วิจัยที่ได้นี้ ไปแนะนำให้องค์การ หน่วยงาน หรือ กลุ่มบุคคลว่าควรจะทำอย่างไรหรือจัดให้มีสิ่งใดเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น จัดให้มีแผนพัฒนาบุคลากร หรือ จัดทำโครงการ เป็นต้น

ส่วนที่ 2 เป็นข้อเสนอแนะในการทำการศึกษาครั้งต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ขยายวงกว้างขึ้น หรือเพิ่มเติมข้อมูลในเชิงลึก เป็นการเสนอแนะหัวข้อการศึกษาในมุมมองที่ต่อเนื่องหรือในองค์การที่แตกต่างกัน เป็นต้น


 

หน่วยที่ 6 การอ้างอิงข้อมูลและบรรณานุกรม

            การอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากเอกสารเป็นสิ่งที่สำคัญ การอ้างอิงจะปรากฎอยู่ในบทต่าง ๆ ในเล่มรายงาน ส่วนบรรณานุกรมจะปรากฎอยู่ท้ายเล่ม

การอ้างอิงข้อมูลอาจทำได้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 การอ้างอิงโดยใช้ชื่อผู้ถูกอ้างอิง ปี และ หน้า ขึ้นต้นข้อความ และ แบบที่ 2 การอ้างอิงโดยใส่ชื่อผู้อ้างอิง ปี และหน้า ไว้ท้ายข้อความ แบบที่ 2 ทำให้ข้อความมีความต่อเนื่องและไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ถูกอ้างอิงมาก่อนหน้าแล้ว เพราะผู้ศึกษาจำต้องตัดข้อความที่เหมือนกันออกไป ส่วนการอ้างอิงแบบที่ 1 ทำให้การเขียนไม่ต่อเนื่องมีลักษณะเป็นท่อน ๆ มาต่อกัน และยังทำให้ได้ข้อความซ้ำ ๆ ถ้าผู้ถูกอ้างเขียนเหมือนกัน การที่จะเลือกอ้างอิงแบบใดให้ดูที่ความเหมาะสมในการลื่นไหลของข้อมูล

            การอ้างอิงที่แบบทุติยภูมิ คือ การอ้างมาจากที่ผู้ถูกอ้างอิงมาอีกทีหนึ่ง ต้องใช้คำว่า    อ้างถึงใน ชื่อที่จะปรากฎในบรรณานุกรม คือ ชื่อที่อยู่หลังคำว่า อ้างถึงใน

การคัดลอกข้อมูลมาอ้างอิงต้องไม่มากจนเกินไป เช่น ไม่ควรเกินครึ่งหน้ากระดาษ ควรมีการนำข้อมูลอ้างอิงจากผู้เขียนคนอื่นสลับบ้าง การลอกมาใส่ทั้งเล่มเป็นการเสียมารยาทและมีความผิดแม้ว่าจะอ้างอิงแล้วก็ตาม วิธีการคัดลอกได้กล่าวไว้แล้วในการทบทวนวรรณกรรม

รายชื่อผู้ที่ถูกอ้างอิงในบทต่าง ๆ ในเล่มรายงานต้องนำไปรวบรวมไว้ที่ บรรณานุกรม ให้ครบทุกชื่อ และต้องเรียงตามตัวอักษร

            ข้อมูลที่ต้องนำมาประกอบในการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม รวมทั้งการใส่เครื่องหมายวรรคตอน ในการเขียนอ้างอิงและในการเขียนบรรณานุกรม ให้ศึกษาในเอกสารคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย ให้ศึกษาคำอธิบายและตัวอย่างในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ หน้า 15-27

 

หมายเหตุ: สำหรับการเขียนอ้างอิงในวิชาปัญหาพิเศษนี้ มีข้อกำหนดดังนี้

    1. เฉพาะนามผู้ถูกอ้างอิงที่เป็นภาษาไทย ให้ ใส่ทั้ง ชื่อและนามสกุล ปี หน้า

    2. ส่วนนามผู้ถูกอ้างอิงที่เป็นภาษาอังกฤษ ใส่ นามสกุล เท่านั้น แล้วต่อด้วย ปี หน้า

ในกรณีที่อ้างอิงแบบที่ 1 .ให้เขียน นามสกุล ทับศัพท์เป็นภาษาไทยก่อนและใส่นามสกุลภาษาอังกฤษ ปี หน้า ไว้ในวงเล็บ

 

หน่วยที่ 6 การอ้างอิงข้อมูลและบรรณานุกรม

            การอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากเอกสารเป็นสิ่งที่สำคัญ การอ้างอิงจะปรากฎอยู่ในบทต่าง ๆ ในเล่มรายงาน ส่วนบรรณานุกรมจะปรากฎอยู่ท้ายเล่ม

การอ้างอิงข้อมูลอาจทำได้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 การอ้างอิงโดยใช้ชื่อผู้ถูกอ้างอิง ปี และ หน้า ขึ้นต้นข้อความ และ แบบที่ 2 การอ้างอิงโดยใส่ชื่อผู้อ้างอิง ปี และหน้า ไว้ท้ายข้อความ แบบที่ 2 ทำให้ข้อความมีความต่อเนื่องและไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ถูกอ้างอิงมาก่อนหน้าแล้ว เพราะผู้ศึกษาจำต้องตัดข้อความที่เหมือนกันออกไป ส่วนการอ้างอิงแบบที่ 1 ทำให้การเขียนไม่ต่อเนื่องมีลักษณะเป็นท่อน ๆ มาต่อกัน และยังทำให้ได้ข้อความซ้ำ ๆ ถ้าผู้ถูกอ้างเขียนเหมือนกัน การที่จะเลือกอ้างอิงแบบใดให้ดูที่ความเหมาะสมในการลื่นไหลของข้อมูล

            การอ้างอิงที่แบบทุติยภูมิ คือ การอ้างมาจากที่ผู้ถูกอ้างอิงมาอีกทีหนึ่ง ต้องใช้คำว่า    อ้างถึงใน ชื่อที่จะปรากฎในบรรณานุกรม คือ ชื่อที่อยู่หลังคำว่า อ้างถึงใน

การคัดลอกข้อมูลมาอ้างอิงต้องไม่มากจนเกินไป เช่น ไม่ควรเกินครึ่งหน้ากระดาษ ควรมีการนำข้อมูลอ้างอิงจากผู้เขียนคนอื่นสลับบ้าง การลอกมาใส่ทั้งเล่มเป็นการเสียมารยาทและมีความผิดแม้ว่าจะอ้างอิงแล้วก็ตาม วิธีการคัดลอกได้กล่าวไว้แล้วในการทบทวนวรรณกรรม

รายชื่อผู้ที่ถูกอ้างอิงในบทต่าง ๆ ในเล่มรายงานต้องนำไปรวบรวมไว้ที่ บรรณานุกรม ให้ครบทุกชื่อ และต้องเรียงตามตัวอักษร

            ข้อมูลที่ต้องนำมาประกอบในการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม รวมทั้งการใส่เครื่องหมายวรรคตอน ในการเขียนอ้างอิงและในการเขียนบรรณานุกรม ให้ศึกษาในเอกสารคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย ให้ศึกษาคำอธิบายและตัวอย่างในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ หน้า 15-27

 

หมายเหตุ: สำหรับการเขียนอ้างอิงในวิชาปัญหาพิเศษนี้ มีข้อกำหนดดังนี้

    1. เฉพาะนามผู้ถูกอ้างอิงที่เป็นภาษาไทย ให้ ใส่ทั้ง ชื่อและนามสกุล ปี หน้า

    2. ส่วนนามผู้ถูกอ้างอิงที่เป็นภาษาอังกฤษ ใส่ นามสกุล เท่านั้น แล้วต่อด้วย ปี หน้า

ในกรณีที่อ้างอิงแบบที่ 1 .ให้เขียน นามสกุล ทับศัพท์เป็นภาษาไทยก่อนและใส่นามสกุลภาษาอังกฤษ ปี หน้า ไว้ในวงเล็บ

 

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

จันทนา ทองประยูรการเขียนโครงการวิจัยเอกสารอัดสำเนามปพ., มปป

ธีระดา ภิญโญ และ อดิสัย โทวิชา. การวิจัยทางธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏ

สวนสุนันทา, 2552.

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. คำแนะนำการเขียนเอกสารวิจัย. กรุงเทพมหานครวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเอกสารอัดสำเนา, 2542.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณแนวทางการตอบข้อสอบและกรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์กรุงเทพ

มหานครสำนักพิมพ์นิติธรรม, 2548, 99 หน้า.

ศิริชัย กาญจนวาสี ทวีวัฒน์ ปิตยานนท์ และ ดิเรก ศรีสุโข. การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสม

         สำหรับการวิจัย. กรุงเทพมหานครจุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย, 2537.

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. คู่มือการทำวิทยานิพนธ์. กรุงเทพมหานครบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. 2548.

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติภาวะผู้นำ: Best Practices. Center of Excellence .  1(มกราคม, 2545).

สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์วิธีทำเอกสารส่วนบุคคล. กรุงเทพมหานครวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, เอกสารประกอบการบรรยาย, 2542.

 

ภาษาอังกฤษ

Attig, George A. and  Winichagoon, Pattanee. Effective Proposal Writing.

Nakhon Pathom, Thailand : Institute of Nutrition , Mahidol University , 1991.

Cooper, R. D. and Schindler, S.S. Business Research Methods. New York : Irwin, McGraw-Hill, 2001.

Holton, F. E. and Burnett, F. M. Quantitative Research Methods. Human Resource Development: Research Handbook.  65-87. Edited by Swanson, A. R. and Holton, F. E.  California : Berrett-Koehler Publishers, 1997.

Leimbach, P. M. and Balwin, T. T.  How Research Contributes to the HRD Value Chain. Human Resource Development: Research Handbook.  21-46. Edited by Swanson, A. R. and Holton, F. E.  California : Berrett-Koehler Publishers, 1997.

Mullins, Carolyn J. The Complete Writing Guide to Preparing Reports,

         Proposals, Memos, etc. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall, 1980.

Swanson, L. B., Watkins, E. K. and Marsick, J. V.   Qualitative Research Methods. Human Resource Development: Research Handbook.  88-113. Edited by Swanson, A. R. and Holton, F. E.  California : Berrett-Koehler Publishers, 1997.

1.       

 

 

 

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com