ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







สุภาษิตเพี้ยน

 

การพูดของคนไทยมักจะเป็นการแสดงออกถึงความเป็นนักภาษาศาสตร์ ไม่เชื่อคุณลองสังเกตดูการพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนซิ จะพบว่ามักจะมีการหยอดคำคม ซึ่งอาจจะเป็นคำสุภาษิตหรือ คำพังเพยมาใช้ควบคูไปกับการสนทนาด้วยเสมอ  เช่น ในช่วงตอนที่สถาบันของฉันจะต้องมีการเลือกตั้งอธิการบดี เพื่อเข้ามาบริหารงานของสถาบัน ซึ่งก็มีหลายคนให้ความคิดกันต่าง กัน  เกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งนี้  จึงมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง นานา วันหนึ่งฉันบังเอิญเดินผ่านกลุ่มอาจารย์กลุ่มหนึ่ง ได้ยินเขาพูดคุยกันเสียงแว่ว ว่า พวกเรานี้จะเข้าข่าย  เป็นกบเลือกนาย หรือเปล่านะ อีกคนก็พูดต่อว่า ไม่ลองไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น อีกคนเสริมสติเพื่อนนักปฏิวัติว่า ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม อีกคนเห็นด้วยบอกว่า  ช้าเป็นงาน นานเป็นคุณ มีคนแย้งสุภาษิตนี้ใช่ ไดโนเสา เต่าล้านปี หรือเปล่า  อีกคนไม่สนใจพูดต่อไปอีกว่า เวลาไม่คอยท่า  แล้วมันเกี่ยวกันไหมเนี่ยะ คนที่วิตกกังวลก็กล่าวว่า  เราอยู่ใน ช่วง หน้าสิ่วหน้าขวาน มีเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งเตือนว่าอย่าเอาชื่อแคนดิเดดอธิการมาเล่นกัน รักดอกจึงหยอกเล่น อีกคนในกลุ่มชักมัน กล่าวต่อความอย่างสงสัยว่าจะ  พบไม้งามยามขวานบิ่น ฉันว่าอาจารย์ท่านนี้คิดแปลก แต่ในวินาทีนั้นท่านอาจารย์คนหนึ่งก็หันขวับมาจิกใส่อย่างมีอารมย์ว่า ไอ้ องุ่นเปรี้ยว คนที่รู้ตัวรีบขออโหสิกรรมว่า ข้าน้อยขออโหสิ ว่าแล้วก็เฮกันทั้งกลุ่ม สงสัยว่ามีอะไรในก่อไผ่แน่เลย เพราะมีคนหนึ่งเปรยออกมาว่า  เจ้านี่มัน  แกว่งเท้าหาเสี้ยน  อีกคนก็เอออวย แล้วกล่าวเสริมว่า พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี  

เพื่อนพูดต่อกันจนเป็นเรื่องเล่นเอาฉันเป็นงง สงสัยว่ามันคงจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่านะเนี่ย  แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ฉันจะต้องไปสอนพอดี   ก็เลยจำใจต้องออกจากการที่แฝงกายแอบฟังอย่างเสียดาย  ในขณะที่เดินนั้นฉันก็ให้นึกสงสัยว่าคนกลุ่มนี้เขาจะไม่พูดกันด้วยภาษาที่เป็นประโยคธรรมดากันบ้างหรือไงนี่ สงสัยจะเป็นพวกอาจารย์ที่สอนภาษาไทยแน่เลย จะเห็นว่าการพูดคำประเภทนี้นั้น ผู้พูดและผู้ฟังจะต้องเข้าใจสำนวนและการใช้จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ซึ่ง บางครั้งการพูดหรือการนำไปใช้ก็อาจทำให้เกิดการสับสนได้เหมือนกัน  เพราะเมื่อไม่นานมานี้พวกเราชาวชมรมกล้วยไม้  ก็เกือบจะถูกพิษภาษาเล่นงานเสียแล้ว

ในงานวันชุมนุมสังสรรค์ เมื่อวันก่อน ฉันและเพื่อน ได้จัดงานเลี้ยงรุ่น ชาวกล้วยไม้ชึ้น คราวนึ้ปรากฏว่ามีเพื่อนฝูงไปร่วมชุมนุมกันมากเป็นพิเศษเพราะมีพรายกระซิบบอกมาว่า  ในงานนี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่ของ ยายอรศรีที่จะละทิ้งคานทองนิเวศน์เพราะได้เกิดไปปิ้งกับหนุ่มวัยใกล้เคียงคนหนึ่งเข้าที่ต่างประเทศที่ยายอรศรีได้ไปทัวร์ทัศนศึกษา  พร้อมกันนี้ข่าวยังแจ้งด้วยว่ายายอรศรีจะพาว่าที่เจ้าบ่าวมาเปิดตัวให้เพื่อน  ได้พิจารณา เพื่อเป็นการทดสอบว่าหนุ่มคนนี้จะสอบผ่านทำให้กลุ่มยอมรับเป็น  ชาวกล้วยไม้ด้วยหรือไม่ไม่รู้ว่ายายอรศรีเธอคิดถูกหรือคิดผิด  แต่ที่แน่    เพื่อนเราคนนี้คงอยากให้เพื่อนในกลุ่มได้หมดห่วงในตัวเธอเสียทีในงานนี้ ทุกคนจึงเตรียมพร้อมที่จะพบกับความมันส์ที่จะได้ไล่ต้อนหนุ่มหลงคนนี้เสียให้สุด แต่พอเอาเข้าจริงแล้วผลกลับปรากฏว่าคนที่ถูกไล่ต้อนกลับเป็นพวกเราเสียฉิบ เพราะพอคุยกันไปพอเพลิน เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่มักจะชอบพูดคำว่า "อะไรล่ะ " เพราะความแก่นึกจะพูดอะไรก็พูดไม่ออกทำให้เคยปาก ก็เลยได้รับคำพูดที่แสดงความห่วงใย ด้วยท่าทีอันแสนจะสุภาพอ่อนโยนและหวังดีว่า  “คุณคง ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด ใช่ไหมครับ เล่นเอาเพื่อนฉันเกิดอาการ ตาเหลือกอ้าปากค้าง หุบปากสนิทไปเลย ก็จะไม่ให้เกิดอาการเช่นว่านี้ได้อย่างไร

ก็สำนวนนี้มันว่ากันชัด แต่เพื่อนคนอื่น  ก็ได้แอบขอบคุณ หนุ่มหลงคนนี้ในใจ เพราะรำคาญแม่คนนี้อยู่เหมือนกัน พูดอะไรก็นึกไม่ออก  แล้วยังอย่างเล่าอีก สมน้ำหน้าเจอคนปราบเสียบ้าง แต่หนุ่มหลงคนนี้ยังได้แสดงอภินิหารในการใช้ภาษาอย่างดุเดือดต่อไปอย่างที่เรียกว่า เชือดนิ่มและนุ่ม นั่นแหละ เพราะไม่ทันไรก็มีเพื่อนฉันที่ยังเป็นสาวโสดคนหนึ่งโกรธแบบหน้าดำหน้าแดงวิ่งมาเล่าให้ฉันฟังอย่างละล่ำละลักว่า "คนบ้าอะไรก็ไม่รู้ เธอดูซิ ไอ้เราหรือเห็นว่าเป็นคนใหม่พลัดเข้ามากลัวว่าจะเกรงใจก็เลยอุตส่าห์เข้าไปเพื่อที่จะแสดงความมีน้ำใจไมตรี ด้วยการพูดว่า รับประทานมาก นะคะ ไม่ต้องเกรงใจ แฟนยายอร ย้อนถามฉันกลับมาว่าอย่างไรรู้ไม๊เธอ เขาถามฉันกลับมาว่า  “คุณคงอยากให้ผมเป็น พระยาเทครัวใช่ไหมครับ เพื่ออรรถาธิบายต่อฉันฟังแล้วจะบ้า มันเห็นฉันไปให้ท่าหรืออย่างไร เพื่อนของฉันแหลต่ออีกว่ากลัว ยายอรศรีจะถูกหลอกเอาเมื่อแก่ อุตส่าห์ถนอมเนื้อถนอมตัวมาจนป่านนี้จะมาโดนกินไข่แดงเสียละน้า แต่เพื่อนก็บอกว่า มันก็ชอบกลอยู่เหมือนกันนา เวลาเขาพูดท่าทางเขาสุภ๊าพสุภาพ  มันดูยังไง  อยู่ หรือหนุมหลงคนนี้ประสาทไม่ดี จากการที่เป็นผู้รักและหวังดีต่อเพื่อนเป็นอันมาก  ด้วยเกรงว่าน้ำตาจะเช็ดหัวเห่าเหี่ยว  เพราะไปเจอเจ้าชู้ยักษ์รักไม่เลือกเข้าให้แล้ว

ในที่สุดที่ประชุม เสือ ใส่ เกือก ก็ได้ตกลงว่าจะต้องพยายามให้ยายอรศรีเพื่อนรักได้รู้พฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้  ทุกคนจึงพร้อมใจกันขอเวลานอก จัดการให้อรศรีได้เข้ามารับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเพื่อน ก็ชิงกันเล่าจนฟังไม่ค่อยจะได้ศัพท์จนเหนื่อยหมดแรง ฝ่ายอรศรีก็เอาแต่หัวเราะชอบใจ จนเพื่อน พากันสงสัยว่าสงสัยจะเพี้ยนไปด้วยกันเสียแล้ว แต่ในที่สุดทุกคนก็ถึงบางอ้อ เพราะความจริงมีอยู่ว่าหนุ่มหลงท่านนี้ ท่านเป็นคนไทยที่ไปเรียนยังต่างประเทศตั้งแต่เด็ก    ภาษาไทยนั้นพออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่พอพูดได้ เขาฝึกภาษาด้วยการจำเอามาพูดบวกกับการใช้วิจารณญาณที่มีอยู่ ดังนั้น คำว่าพระยาเทครัวนั้น ท่านหมายความว่า จะให้กินจนหมดครัวเชียวหรือ ซึ่งท่านก็บอกอย่างภาคภูมิใจพร้อมทั้งทำตาหวานกับยอดยาหยีอรศรี เป็นเชิงอวดว่า "ผมก็รู้เรื่องภาษาไทยดีพอตัวเชียวนะ ไม่อดหยากปากแห้ง จนไม่ได้พูดหรอกจะบอกให้" พวกเราจึงได้รู้ว่าท่านไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างที่เพื่อนหญิงชาวกล้วยไม้โสดของเรากล่าวหา  เมื่อการณ์กลับเป็นเช่นนี้คนโดนรุมสวด ก็คือแม่เพื่อนตัวดีที่ คิดลึกคิดซึ้งไม่เข้าเรื่อง ทำเอาเพื่อน พลอยคิดอกุศลไปด้วย ทีหลังหัดแปลเพี้ยน เสียบ้างก็ได้อยู่หรอก       

เหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดกับฉันเช่นกัน เพื่อนร่วมงานของฉันคนหนึ่งเธอจบการศึกษามาจากต่างประเทศ มาปรารภกับฉันในเรื่องต่าง พร้อมกันนี้เธอขมวดท้ายว่า "ทำไมคนเรา จึงชอบ บอกเก้าเล่าสิบ ทั้ง ที่ไม่ใช่เรื่องของตัว เมื่อฟังเธอพูดแล้ว ฉันต้องย้อนถามเพื่อให้เธออธิบายความหมายให้ชัด  อีกที  เธออธิบายว่า  "ก็รู้แค่เก้า แล้วชอบเอาไปเล่าต่อเป็นสิบล่ะ  ตีไข่ใส่สีเสียเละ จนแทบจะทะเลาะกันตาย   คนมีเรื่องกันก็เพราะไอ้พวกนี้ มือถือสากปากถือครกนี่แหละพี่" เมื่อฉันได้ฟังคำบรรยายแล้ว ก็ทำให้เกิดความคิดคล้อยตามและเห็นว่าเข้าท่าเหมือนกันแฮะ และความจริงแม้เธอจะแปลงสาร แต่เธอก็ได้ใช้เพื่อความหมายที่เธอต้องการทั้งยังฟังดูดีได้ความหมายที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดีด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นครู เมื่อเธออารมณ์ดีขึ้น ฉันจึงค่อย ๆเลียบเคียงถามเธอว่า เคยได้ยิน คำกล่าวที่ว่า บอกเล่าเก้าสิบ ไหมซึ่งเธอก็เลยย้อนถามฉันแบบงงว่า  "มีด้วยหรือพี่หนูไม่ยักกะรู้ " ฉันต้องค่อย อธิบายให้เธอฟังด้วยเกรงว่าเธอจะออกอาการรู้สุภาษิตขึ้นมาอีก แล้วฉันจะเน่าโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ  ในที่สุดเมื่อเธอเข้าใจดีแล้วเธอก็รีบถามฉันว่าพี่ แล้วหนูผิดไหมที่เอาคำพูดของเขามาแปลงใช้ เธอคงจะหมายถึงกฎหมายลิขสิทธิ์กระมัง  ฉันจึงตอบเธอว่า อย่าไปกังวลกับมันเลยแต่พยายามใช้ให้ถูกหน่่อยก็จะดี เพราะภาษาเป็นสิ่งมีชีวิต มีความเปลี่ยนแปลงได้ การเกิดของคำในภาษาจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่คำสุภาษิตพังเพยที่แต่งขึ้นมาใหม่นี้ก็อาจจะมีคนนำไปใช้ในโอกาสต่อไปก็ได้ แต่ควรต้องสร้างสรรค์ ในกรณีนี้ฉันได้ให้กำลังใจว่าเธอคือผู้หนึ่งที่ได้สร้างคนพังเพยขึ้นมาบนฐานของภาษาเดิม  เธอยิ้มอย่างอาย    แล้วบอกว่า "หนูไม่สงวนลิขสิทธิ์หรอกค่ะถ้าจะมีผู้ใช้ตามบ้าง"  "ขอบคุณค่ะ ฉันตอบเพราะฉันเองก็นึกสนุกอยากจะนำไปใช้ด้วยเหมือนกัน

 

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com