ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







ทำไมเด็กกลัวของเล่น

ของเล่นเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนชอบ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่คู่กันกับเด็ก บริษัทที่ผลิตของเล่นต้องลงทุนทำวิจัยด้วยเงินมหาศาลเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งก็คือ เด็ก ๆ ดังนั้นของเล่นจึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดเด็กให้เข้าใกล้เสมอ

ของเล่นมีประโยชน์เนื่องจากเด็กจะใช้การสัมผัสเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับตัวเขาในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ  2 ขวบ และ ก็จะยังคงใช้ของเล่นเป็นเพื่อนในจินตนาการ ( เพื่อนสมมติ) เมื่ออายุ ประมาณ 4-5 ขวบขั้นไป จนกว่าเขาจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นเพื่อนเล่นจริงๆได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการทางสังคมในขั้นต่อไป     

เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้มีโอกาสชมรายการไขปัญหาเด็กรายการหนึ่งซึ่งออกอากาศในตอนเช้าทุกวัน พบว่ามีคุณแม่ท่านหนึ่งเกิดมีปัญหาลูกน้อยอายุราว 1 ขวบเกิดอาการ กลัวของเล่นที่ตนเองอุตส่าห์ซื้อหามาให้ นัยว่าเป็นของนอก มีแสงและเสียง ราคาก็น่าจะแพงเสียด้วย การที่พบว่าของเล่นที่อุตส่าห์ซื้อมาให้เล่นกลายเป็นสิ่งที่ลูกไม่อยากแตะต้องหรือให้มันเข้ามาใกล้ตัว มักจะทำให้แม่รู้สึกไม่สบายใจและมีความกังวลปนเสียดาย(เงิน) อยู่ไม่น้อย ความรู้สึกว่าทำไมลูกจึงไม่ยอมเห็นคุณค่าของเงินว่ามันแพงกับน้ำใจของคุณแม่บ้างนะ  ความกังวลของคุณแม่มีมากจนต้องโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาในรายการ จากการพูดคุยในรายกานคุณแม่ท่านนี้บอกว่าพยายามเท่าไรก็ไม่สำเร็จ  ลูกยังคงแสดงท่าทีที่รังเกียจและไม่ยอมเข้าใกล้ของเล่นนี้อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย การที่จะเอาของเล่นที่ลูกแสดงความกลัวหรือเกลียดไปซ่อนให้พ้นหูพ้นตานั้นทำไม่อยากไม่ต้องถามใครก็ได้ แต่การแก้ปัญหาไม่ให้เด็กกลัวของเล่นน่าจะเป็นประเด็นที่คุณแม่ต้องการมากกว่า

สำหรับปัญหาที่ว่าทำไมเด็กเล็ก ที่มีอายุ ประมาณ 13 - 14 เดือนจึงมีอาการกลัวของเล่นบางชนิดนั้นน่าจะอธิบายได้โดยหลักการทางจิตวิทยาในเรื่องของการเรียนรู้ด้วยการถูกวางเงื่อนไขซึ่งเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้โดยธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นการปรากฏตัวของของเล่นที่มีขนาดใหญ่เกินไป หรือมีแสงและเสียงดังอาจทำให้เกิดความตกใจและกลัว ในกรณีนี้ก็เช่นกัน นอกจากนี้การแสดงอาการหยอกล้อแบบตื่นเต้นเสียงดังของคุณแม่เมื่อนำของเล่นมาให้อาจทำให้ลูกตกใจเพิ่มขึ้นไปอีกก็อาจเป็นได้

การความกลัวจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กผวาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่รู้ตัวก็ได้   เช่น  เอาตุ๊กตาซ่อนเอาไว้ข้างหลัง  แล้วเข้าประชิดตัวเด็ก เอาตุ๊กตาออกพร้อม    กับ เสียงดัง ๆ  "จ๊ะเอ๋ ดูซิคะนี่อะไรเอ่ย" เป็นต้น และโดยเฉพาะเมื่อเวลาเด็กกำลังเล่นอยู่อย่างเพลิน  เด็กเล็กๆ จะตกใจและแปลความหมายว่าของเล่นชิ้นนี้มักจะมากับเสียงที่น่ากลัว ความกลัวของเด็กจะถูกนำมาควบคู่กับของเล่นชิ้นนั้นทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าของเล่นชิ้นนี้มากับความน่ากลัว และเด็กก็จะกลัวของเล่นที่เด็กสรุปรวมว่าเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน 

ในกรณีนี้คุณแม่เมื่อเห็นเด็กแสดงความกลัวก็อาจรู้สึกกังวลก็จะพยายามที่จะขจัดความกลัวนั้นออกไปจากตัวเด็กให้ได้ เพราะของเล่นชิ้นนั้นอาจจะมีราคาแพง และคุณแม่เองเห็นว่าดีเป็นพิเศษ  ก็จะยิ่งอยากให้เด็กยอมรับ จึงพยายามเสนอของเล่นชิ้นนี้มากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็แสดงความเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งลูกก็จะรู้สึกได้อีกว่ามันมาพร้อมกับความเครียดของคุณแม่ด้วย จึงกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ให้แน่นหนามากขึ้นมาอีกและพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ทำ เช่น อาจเอาของเล่นไปสั่นหรือเขย่าใกล้ ๆ ตัวเด็ก พร้อม ๆ กับทำพฤติกรรมเสแสร้งว่าของเล่นนั้นดีให้ความสนุก อาการเหล่านี้เป็นการแสดงความวิตกกังวลออกมาโดยไม่ตั้งใจ แต่ลูกจะรู้สึกได้และยิ่งถ้าเด็กไม่ยอมรับของเล่นตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ  ผู้ใหญ่เองก็ยิ่งจะยิ่งพยายามมากขึ้นไปอีกด้วยพฤติกรรมและท่าทางที่แปลกๆ  ไปเรื่อย ลงท้ายที่สุดเมื่อผู้ใหญ่แพ้  อารมณ์ก็มักจะเข้ามาแทนที่ บางคนถึงกับกล่าวสำทับว่า ต่อไปนี้จะไม่ซึ้ออะไรให้อีกแล้วหรือ ไม่เล่นก็อย่าเล่นเดี๋ยวจะเอาไปทิ้งให้หมด ฯลฯ หมดสนุกกันไปทั้งครอบครัว

กลวิธีในการแก้ไขอาการกลัวของเล่นนั้นไม่น่าจะยาก  เมื่อเด็กกลัวจนถึงขั้นผลักไสไล่ส่งของเล่นชิ้นนั้น  พ่อแม่ก็ไม่ควรฝืนใจหรือเซ้าซี้ให้เด็กเล่นอย่างเจาะจง แต่ควรห้อยู่ปะปนกับของเล่นอื่น ไ่ม่ให้ความสนใจกัของเล่นชิ้นนั้น เด็กอาจจะไม่รู้ว่ามีของเล่นชิ้นนี้อยู่ด้วย นาน ๆไป เด็กก็จะลืมกลัวไปเอง

ในกรณีที่เด็กกลัวมากจนหวีดร้องก็ต้องเอาไปให้ไกลตาสักหน่อย แต่อาจวางไว้ในตู้โชว์ เมื่อเด็กเคยชินก็ให้นำมาวางรวมกับของเล่นอื่น ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าเด็กจะเล่นหรือจับต้องหรือไม่ พ่อแม่อย่าเป็นคนหยิบของเล่นชิ้นนั้นให้ลูกเล่นโดยเด็ดขาด ปล่อยให้เวลาเป็นตัวแสดงให้เห็นว่าของเล่นนั้นไม่ได้มีความน่ากลัว คิดว่าในไม่ช้าเขาก็จะไว้วางใจของเล่นชิ้นนั้นและจับมันขึ้นมาเล่นเองก็ได้ แต่ที่สำคัญของเล่นชิ้นนั้นเหมาะกับวัยของลูกหรือเปล่า

การสร้างความกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัวให้แก่เด็กจะทำให้เด็กไม่มีเหตุผลและทำให้เกิดความกลัวฝังใจ  ความกลัวฝังใจเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบเลือนได้ ถ้าเราสำรวจตัวเราเองให้ดีก็จะพบว่ามีบางอย่างที่เรายังกลัวแบบฝังใจอยู่ด้วย  ก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุและที่มาของความกลัวนั้น ๆ 

© Copyright 2010. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com